คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนเทคนิคใหม่ของรังสีรักษาในมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในโรคระยะต้นของมะเร็งเต้านม คือระยะ0, ระยะที่ 1,และระยะที่ 2 ที่โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง การรักษามักเป็นการผ่าตัดแบบไม่ตัดเต้านมทั้งเต้า คือ ตัดออกเฉพาะก้อนมะเร็ง เพื่อยังคงเก็บเต้านมไว้เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ที่เรียการรักษาวิธีนี้ว่า Breast preservation ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ ผลการรักษาในการควบคุมโรคให้ได้ดีโดยเฉพาะป้องกันการเกิดโรคซ้ำในเต้านม มักรักษาร่วมกับการฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านมทั้งเต้า และอาจฉายเพิ่มเติมตรงรอยผ่าตัดด้วย(Boost) ซึ่งการฉายรังสีโดยทั่วไป (Conventional fractionation)มักฉายครอบคลุมเต้านมทั้งหมดประมาณ 25 ครั้งในระยะเวลาทั้งหมด25วัน(ฉายวันละครั้ง) ระยะเวลารวมทั้งหมดประมาณ 5 สัปดาห์ บวกกับการ Boost อีกประมาณ 5-10ครั้ง ใน1-2สัปดาห์ รวมระยะเวลารักษาทั้งหมด ประมาณ 6-7 สัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งส่งผลถึงค่าใช้จ่าย การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและครอบครัว

แพทย์รังสีรักษาในยุโรปและแคนาดา จึงคิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยได้ศึกษาลดจำนวนวันในการฉายรังสีรักษาลง แต่เพิ่มปริมาณรังสีในแต่ละวันให้สูงขึ้น เรียกเทคนิคฉายรังสีแบบใหม่นี้ว่า Hypofractionation โดยใช้เวลารักษาทั้งหมด 21-26 ครั้งใน 4-5สัปดาห์ และติดตามผู้ป่วยที่รักษาด้วยเทคนิคใหม่นี้ได้นานกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งพบว่าการรักษาแบบ Hypofractionation ให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกับการรักษาเดิม(Conventional fractionation)ที่รวมถึงผลการควบคุมโรคมะเร็งที่เต้านม อัตราการรอดชีวิต และผลข้างเคียงระยะยาว(Chronic complication) แพทย์ในทั้ง2ประเทศจึงได้นำเทคนิคใหม่นี้มาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง

คณะแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำวิธีการนี้มาปรับใช้ในสหรัฐอเมริกา โดยคณะรังสีรักษาแพทย์จากโรงพยาบาล MD Anderson ที่การศึกษานำโดย พ.ญ. Simona F. Shaitelman โดยที่เป็นการศึกษาแบบ เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยกลุ่มรักษาเทคนิคใหม่ กับกลุ่มรักษาด้วยเทคนิคเดิม เพื่อดูผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันในขณะรักษา และติดตามผลนานไปถึง 6 เดือนหลังครบรักษา ทีเรียกว่าเป็นผลข้างเคียงระยะเฉียบพลัน(Acute complication) โดยผู้ป่วยกลุ่มศึกษาที่ใช้เทคนิคใหม่ มีทั้งหมด 138 คน กลุ่มควบคุมคือรักษาด้วยเทคนิคเดิมทั้งหมด 149 คน ทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

ผลการศึกษา การเกิดผลข้างเคียงระยะเฉียบพลัน ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เต้านม(Dermatitis), การเปลี่ยนแปลงสีของผิวเต้านม(Hyperpigmentation), อาการคัน, อาการปวดเจ็บที่เต้านม,อาการล้า,และความรุนแรงของการเกิดผลข้างเคียง พบว่า ในกลุ่มที่รักษาด้วยเทคนิคใหม่ เกิดผลข้างเคียงเฉียบพลันในทุกรายการดังกล่าว น้อยกว่าในผู้ป่วยกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.02-0.001)

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า การฉายรังสีเทคนิคใหม่ ให้ผลในการเกิดผลข้างเคียงเฉียบพลันจากรังสีรักษาน้อยกว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยเทคนิคเดิม คณะรังสีรักษาแพทย์ชาวสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาเรื่องนี้ จึงแนะนำว่า น่านำการรักษาเทคนิคใหม่นี้มาใช้ในสหรัฐอเมริกา เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มดังกล่าว

ทั้งนี้ในประเทศไทยเอง รังสีรักษาแพทย์หลายท่านก็ได้เริ่มนำเทคนิคใหม่นี้มาปรับใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มลักษณะโรคดังกล่าวบ้างแล้วเช่นกัน

บรรณานุกรม

1.http://www.mdanderson.org/newsroom/news-releases/2015/shorter-radiation-early-breast-cancer.html [2016,Feb20].

2.http://oncology.jamanetwork.com/article.aspx?articleid=2422117 [2016,Feb20].