คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งจากยาเม็ดคุมกำเนิด (ตอน1)

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นยาที่จำเป็นอย่างยิ่งตัวยาหนึ่งของสตรีวัยมีประจำเดือนในสังคมปัจจุบัน แต่เนื่องจากตัวยาเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเจริญผิดปกติของเซลล์ได้ ซึ่งที่มีการศึกษา การกระตุ้นมักสัมพันธ์กับปริมาณยาฮอร์โมนที่สูง ร่วมกับการใช้ยาฯติดต่อกันอย่างต่อเนื่องนานเกิน 5 ปี ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตยาเม็ดคุมกำเนิด จึงมักเขียนคำเตือนให้บริโภคยาเม็ดคุมกำเนิดต่อเนื่องได้โดยไม่ควรเกิน 5 ปี

ทางการแพทย์เองก็ตระหนักดีในเรื่องนี้ จึงมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง ถึงการเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในผู้ที่ใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง โดยบางการศึกษาครอบคลุมระยะเวลาที่ใช้ยาต่อเนื่องนานถึงมากกว่า 10 ปี ซึ่งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (U.S. National Cancer Institue, NCI,) ได้รวบรวมผลการศึกษาและนำมาสรุปผล ดังนี้

จากการศึกษาพบว่าโรงมะเร็งที่อาจมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง(ยาเม็ดคุมกำเนิด) ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งเต้านม

ผลการศึกษาพบว่า การกินยาเม็ดคุมกำเนิดต่อเนื่องนานเกิน 5 ปี อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้เพราะปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมที่สำคัญ มีหลากหลายปัจจัย อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม

การศึกษายังพบว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีแนวโน้มอาจ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สูงกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดชนิดอื่น คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่ ในแต่ละเม็ดยาจะมีปริมาณฮอร์โมนไม่เท่ากัน ที่เรียกว่า “Triphasic pill” ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันน้อย ส่วนใหญ่ใช้สำหรับสตรีบางรายที่มีปัญหาในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดทั่วไปเท่านั้น และขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพิ่มเติมในกรณีนี้อยู่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นมาตรการในการแนะนำการใช้ยาฯชนิด Triphasic pill ได้

นอกจากนั้น การศึกษายังพบว่า เมื่อหยุดกินยาฯ ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมก็จะลดลงตามไปด้วย จนหลังจาก 10 ปีของการหยุดกินยา ปัจจัยเสี่ยงมักจะลดลงเหลือเท่ากับคนทั่วไปที่ไม่ได้กินยาเม็ดคุมกำเนิด

มะเร็งรังไข่

ทุกการศึกษาพบว่า การกินยาเม็ดคุมกำเนิด ลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ชนิดที่พบได้บ่อย(Epithelial ovarian tumor)ลงได้ โดยถ้ากินยาต่อเนื่องนาน 1 ปี ลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ 10-12% แต่ถ้ากินยาต่อเนื่อง นานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถลดปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งรังไข่ได้ประมาณ 50% ทั้งนี้บางการศึกษาพบว่าการลดปัจจัยเสี่ยงไม่ขึ้นกับปริมาณของฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดในยาฯ แต่บางการศึกษาพบว่า ถ้ามีปริมาณฮอร์โมน Progesterone สูง ก็จะลดปัจจัยเสี่ยงได้สูงขึ้น

ส่วนผลในการลดปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งรังไข่ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ชนิด BRCA1, BRCA2, ยังไม่สอดคล้องกันทุกการศึกษา มีบางการศึกษาที่พบว่า ยาเม็ดคุมกำเนิด ไม่มีผลลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ในผู้มีความผิดปกติทางพันธุกรรมเหล่านี้ แต่หลายการศึกษากลับพบว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารลดปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งรังไข่ในสตรีกลุ่มนี้ได้เช่นเดียวกับในคนทั่วไป

ขอพักไว้เพียงความสัมพันธ์กับมะเร็ง 2ชนิดนี้ก่อน อีก 3 ชนิดไว้ต่อตอนหน้าคะ