คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนน้ำผลไม้รสเปรี้ยวกับมะเร็งผิวหนัง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เมื่อ 30 มิถุนายน 2558 มีข่าวรายงานถึงการศึกษาในอินเทอร์เนตที่ลงล่วงหน้า ที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่เราคุ้นเคย คือน้ำผลไม้ที่ออกรสเปรียว เช่น น้ำส้ม น้ำผลไม้ Grapefruit ฯลฯ ว่า การบริโภคน้ำผลไม้ออกรสเปรี้ยวเหล่านี้ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดที่เรียกว่า มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา(Melanoma)

ทั้งนี้ในขณะนี้ สหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญศึกษาถึงโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมามาก เพราะเป็นมะเร็งที่พบได้สูงขึ้นเรื่อยๆในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเป็นมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคค่อนข้างรุนแรง มีการรักษาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และผลการรักษาในโรคระยะที่2-4 ยังไม่ค่อยดีนัก กล่าวคือ อัตรารอดที่5ปีในโรคระยะที่ 1 ประมาณ 90%, ระยะที่ 2ประมาณ 50-80%, ระยะที่3ประมาณ 40-70%, และระยะที่4 ประมาณ 15-20% ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การที่ผิวหนังได้รับแสงแดดจัดเรื้อรัง ดังนั้นแพทย์จึงต้องการทราบว่า ในน้ำผลไม้รสเปรี้ยว ที่มีสารเคมีชื่อ Psoralens และ Furocoumarinsl สูงกว่าอาหารประเภทอื่น จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาหรือไม่ เพราะสารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นสารที่การตุ้นให้ผิวหนังไวต่อแสงแดดมากกว่าปกติ(Photoactive chemicals) จึงอาจกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ง่ายเมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดจัดเรื้อรัง ถ้าร่างกายมีสารเหล่านี้อยู่ในปริมาณสูงจากการบริโภคน้ำผลไม้เหล่านี้

การศึกษานี้ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งชื่อ Journal of Clinical Oncology โดยเป็นการศึกษานำโดย นพ. S. Wu และคณะ จากหลายสถาบันทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา เป็นการศึกษาจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาอื่นๆ 2 การศึกษา คือ the Nurses’ Health Study ที่เป็นข้อมูลจากกลุ่มผู้หญิงช่วงปี ค.ศ. 1984-2010 ทั้งหมด 63,810 คน และการศึกษาจาก the Health Professionals Followup Study ที่เป็นข้อมูลจากกลุ่มผู้ชาย ในช่วงปี ค.ศ. 1986-2010 ทั้งหมด 41,622 คน รวมเป็นผู้ถูกศึกษาทั้งหมด 105, 432 คน การศึกษานี้ติดตามผลนาน 24-26 ปี

ผลการศึกษาพบว่าในช่วงเวลาของการศึกษานี้ พบมีผู้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาทั้งหมด 1,840ราย และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนที่ไม่บริโภค และที่บริโภคน้ำผลไม้รสออกเปรี้ยว พบว่า ผู้ที่บริโภคน้ำผลไม้รสเปรี้ยวอย่างน้อยวันละครั้ง เกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมากกว่าผู้ไม่บริโภคประมาณ 25%, ซึ่งโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังฯ จะสูงขึ้นตามปริมาณน้ำผลไม้รสเปรี้ยวที่ดื่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p น้อยกว่า 0.001) คือ ถ้าดื่มน้อยกว่าสัปดาห์ละ 2ครั้ง โอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังฯเท่ากับคนทั่วไปที่ไม่บริโภคน้ำผลไม้, ถ้าดื่มสัปดาห์ละ2-4ครั้ง โอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังฯมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 10%, ถ้าดื่มสัปดาห์ละ 5-6 ครั้ง โอกาสเกิดมะเร็งฯ สูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 26%, โอกาสเกิดมะเร็งฯ ประมาณ 27% เมื่อดื่มฯวันละครั้ง, และเมื่อดื่มฯ วันละหลายๆครั้งโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาจะประมาณ 36%

นอกจากนั้น ยังพบว่า น้ำผลไม้จาก Grapefruit เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำผลไม้รสเปรี้ยวชนิดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คณะผู้ศึกษา อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเป็นการศึกษาย้อนหลัง ข้อมูลจึงยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด จำเป็นต้องศึกษายืนยันเพิ่มเติมเพื่อให้มีความแม่นยำทางสถิติมากกว่านี้ และผู้อ่านไม่ควรจะกังวลมากเกินไปเพราะถ้าบริโภคน้ำผลไม้รสเปรี้ยวในปริมาณสูง แต่ไม่ได้ออกแดดมาก ก็ไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดนี้

ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษานี้ ก็คือ ปัจจัยสำคัญของการเกิดมะเร็งผิวหนังทุกชนิดรวมถึงชนิดเมลาโนมา คือ การที่ผิวหนังได้รับแสงแดดจัดเรื้อรัง แต่ถ้าทั้งออกแดดมากและทั้งบริโภคน้ำผลไม้รสเปรี้ยวในปริมาณมากร่วมกัน ก็อาจจะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ได้ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยที่เราหลีกเลี่ยง ป้องกันได้ด้วยตัวเราเอง โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงปัจจัยสำคัญ คือการหลีกเลี่ยงแสงแดจัดอย่างต่อเนื่อง

บรรณานุกรม

1. http://jco.ascopubs.org/content/early/2015/06/24/JCO.2014.57.4111.abstract [2015,Jan16]

2. http://www.cancer.org/cancer/skincancer-melanoma/detailedguide/melanoma-skin-cancer-survival-rates [2015,Jan16]