คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิดพลาดได้ไหม?

ในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง แพทย์จะประเมินจาก

  1. อาการของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย
  2. การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆเช่น การตรวจภาพอวัยวะที่เป็นโรคมะเร็งด้วย เอกซเรย์อัลตราซาวด์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  3. ประวัติเป็นโรคมะเร็ง เคยตรวจ รักษา โรคมะเร็งมาก่อนหรือไม่ อย่างไร
  4. ผลจากการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา
    • อาการและการตรวจร่างกาย ที่บ่งบอกว่า อาจเกิดจากโรคมะเร็งได้ คือ มีแผลเรื้อรัง และ/หรือ มีก้อนเนื้ออาจร่วมกับการมีต่อมน้ำเหลืองโต อาจโตเฉพาะที่ หรือ ทั่วตัว
    • การตรวจอื่นๆ ที่สำคัญ คือ การตรวจภาพของอวัยวะที่มีอาการ อาจจาก เอกซเรย์อัลตราซาวด์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เอมอาร์ไอ การตรวจภาพกระดูกทั้งตัวจากการสะแกนกระดูกโดยการฉีดยาน้ำแร่รังสี (Bone scan) และ/หรือ การตรวจเพทสะแกน (PET scan) และบางครั้งจากการตรวจหาสารมะเร็ง(Tumor marker)

อนึ่ง การตรวจวินิจฉัยจาก ทั้ง 3 วิธีแรกดังกล่าวแล้ว จะไม่สามารถวินิจฉัยได้ 100%ว่า เป็นมะเร็ง เพราะอาจเกิดจากเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง หรือจากมีการอักเสบเรื้อรังของอวัยวะนั้นๆได้

การตรวจที่ให้ผลการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่แน่นอน คือ การตรวจทางพยาธิวิทยา หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยา

ดังนั้น การวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง จึงอาจผิดพลาดได้ จาก

  • ข้อจำกัดของการตรวจวินิจฉัยมะเร็ง คือ การตรวจทางพยาธิวิทยา และการตรวจทางเซลล์วิทยา ที่บางครั้งแพทย์ไม่สามารถให้การตรวจได้ จึงต้องให้การรักษาโดยไม่มีผลการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือทางเซลล์วิทยาทั้งนี้อาจจาก
    • ผู้ป่วยไม่ยอมให้ตัดชิ้นเนื้อ หรือไม่ยอมให้เจาะ/ดูด เซลล์
    • อวัยวะนั้นๆ อยู่ในตำแหน่งที่อันตรายถ้าจะทำการตัดชิ้นเนื้อ หรือ เจาะ/ดูดเซลล์ เช่น อยู่ที่ก้านสมอง อยู่ในสมองส่วนลึก อยู่ในกระดูก หรืออยู่ที่ไขสันหลังดังนั้นแพทย์จึงไม่สามารถทำการตรวจได้
    • สุขภาพร่างกายผู้ป่วยไม่อำนวยที่จะให้มีการตัดชิ้นเนื้อ (เพราะเป็นการผาตัด หรือ ผ่าตัดเล็ก) หรือในการเจาะ/ดูดเซลล์จากอวัยวะ
    • ผลการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเซลล์วิทยา ไม่พบว่าเป็นมะเร็ง แต่อาการผู้ป่วยและการตรวจภาพอวัยวะบ่งชี้ว่าน่าเป็นมะเร็ง แพทย์จึงให้การรักษาแบบโรคมะเร็ง
    • ผู้ป่วยมีอาการมาก เพราะการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือทางเซลล์วิทยา อาจต้องรอผลตรวจถึง 3-7 วันจึงจะได้ผลตรวจ ถ้าแพทย์รอ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ เช่น กรณีมีก้อนเนื้อในปอดกดเบียดหลอดเลือดดำซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ บวมหน้าและบวมแขน เป็นต้น ดังนั้น แพทย์จึงจำเป็นต้องรีบรักษา เช่น ฉายรังสีรักษา หรือให้ยาเคมีบำบัด โดยไม่มีผลตรวจทางพยาธิวิทยา หรือทางเซลล์วิทยา

  • ในบางกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่แพทย์ตรวจทุกวิธีแล้ว รวมทั้งการตรวจทางพยาธิวิทยา และทางเซลล์วิทยา พบว่า ไม่มีเซลล์มะเร็ง รวมทั้งการตรวจภาพอวัยวะเหล่านั้น รวมทั้งการส่องกล้อง ก็ไม่พบความผิดปกติที่พอจะระบุได้ว่า เป็นมะเร็ง แพทย์จึงวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยไม่ได้เป็นมะเร็ง ผู้ป่วยจึงไม่ได้รับการรักษาโรคมะเร็ง แต่ต่อมา เมื่อผู้ป่วยมีอาการเด่นชัดขึ้น จึงอาจตรวจพบในภายหลังว่า เป็นมะเร็ง

อนึ่ง ข้อสำคัญที่ควรทราบ คือ การตรวจทุกวิธีการที่มีในปัจจุบัน รวมทั้งการตรวจทางพยาธิวิทยา และทางเซลล์วิทยา จะมีข้อจำกัดทางด้านเทคนิคผลการตรวจจึงโอกาสผิดพลาดได้ประมาณ 5- 15%เสมอ

ดังนั้น ปัจจุบันแพทย์ จึงมักพูดคุย ชี้แจงกับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย แล้วจึงตัดสินใจรวมกันว่า สมควรจะทำอย่างไรในทั้ง 2 กรณี เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป

สรุป การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิดพลาด ทำให้การรักษาผิดพลาด มีได้ 2กรณี คือ “ไม่เป็นมะเร็งแต่วินิจฉัยว่า เป็นมะเร็ง” และ “เป็นมะเร็งแต่วินิจฉัยว่า ไม่เป็นมะเร็ง” ซึ่งสาเหตุของการวินิจฉัยผิดพลาด ดังได้กล่าวแล้ว