คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนรอยสักกับเอกซเรย์และเอมอาร์ไอ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ส่วนใหญ่ คงคุณเคยกับการตรวจทางรังสีวิทยา คือ เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพทสะแกน และเอมอาร์ไอ ซึ่งเป็นการตรวจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานรังสี และพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ถูกรบกวนได้จากวัตถุที่ หนา, เป็นก้อน, และโดยเฉพาะที่มีส่วนประกอบของโลหะ เช่น เหล็ก ซึ่งโลหะเหล่านี้จะทำให้เกิดการกระจัดกระจายหรือการกระเจิง(Scattering)ของรังสี ที่จะส่งผลให้ภาพที่ตรวจไม่ชัดเจน หรือบางครั้งอาจรนกวนปิดบังรังสี จนทำให้ไม่ให้เห็นภาพที่ต้องการตรวจ จึงส่งผลทำให้การแปลผลตรวจผิดพลาดได้

หมึกสัก(Tattoo ink)ที่ใช้ในการสักตามร่างกาย จะประกอบด้วยโลหะหลายชนิดเป็นส่วนผสมซึ่งขึ้นกับการให้สีของหมึก เช่น เหล็ก(ให้สีน้ำตาล,สีดำ) ตะกั่ว(ให้สีเหลือง, เขียว) ปรอท(ให้สีแดง) ทองแดง(ให้สีเขียว, สีน้ำเงิน) ฯลฯ ดังนั้นรอยสักตามตัวอย่างมากมายที่ต้องใช้สีเหล่านี้ปริมาณมาก ผิวหนังที่มีรอยสักจึงปนเปื้อนโลหะเหล่านี้ได้มาก จึงอาจก่อให้เกิดการผิดพลาดในการตรวจทางรังสีวิทยาดังกล่าวได้ และบางราย โลหะเหล่านี้ในหมึกสักที่มีปริมาณมากจะทำปฏิกิริยากับรังสีที่ใช้ในการตรวจโดยเฉพาะรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จนส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณมีการสัก ที่บางรายมีรายงานถึงขั้นผิวหนังที่รอยสักเกิดเป็นแผลไหม้(Skin burn)ขนาดใหญ่ได้

เมื่อ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2015 มีรายงานล่วงหน้าทางอินเทอร์เนต จากวารสารการแพทย์ ชื่อ Obstetrics&Gynecology โดยแพทย์หญิง N. Grove จาก มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาชื่อ University of California in Orange รายงานผลตรวจผิดพลาดจากการตรวจเพทสะแกนที่ตรวจร่วมกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(PET-CT scan) ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่มีรอยสักบนลำตัวช่วงล่าง โลหะในหมึกสักได้ก่อให้เกิดการการแปลผลตรวจว่า มีมะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานแล้ว แต่เมื่อผ่าตัดรักษาและมีการตรวจทางพยาธิวิทยาของต่อมน้ำเหลืองนั้น กลับพบว่า ไม่มีโรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง แต่พบโลหะที่อยู่ในหมึกสักในต่อมน้ำเหลืองแทน

นอกจากนี้ยังมีรายงาน ในการตรวจเอมอาร์ไอในผู้ที่มีรอยสักหนาแน่นบนผิวหนังส่วนที่จะตรวจ พบว่าก่อให้เกิดภาพการตรวจที่ไม่ชัดเจน จนแปลผลไม่ได้ หรือแปลผลผิดผลาดไป และพบหลายรายมีการระคายเคืองต่อผิวหนังส่วนที่มีรอยสัก และมีบางราย(พบได้น้อย)ถึงกับมีแผลไม้กับผิวหนังส่วนมีรอยสักได้

ความรู้ที่ได้จากการรายงานครั้งนี้ คือ ถ้ามีการสักตามร่างกายที่เป็นรอยสักขนาดใหญ่ ควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่แผนกรังสีวิทยาเสมอ เพื่อป้องกันการแปลผลตรวจที่ผิดพลาด อันจะนำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น

อนึ่ง ปฏิกิริยาระหว่างหมึกสักกับรังสีทางรังสีวิทยา พบได้ไม่บ่อยนัก แต่พบได้เรื่อยๆ โดยขึ้นกับ เนื้อที่และลวดลายการสักที่หนาแน่นที่ใช้ปริมาณหมึกมาก และ ขึ้นกับชนิดและสีของหมึกที่จะมีโลหะชนิดต่างๆที่มีปฏิกิริยากับรังสีได้มากน้อยต่างกัน นอกจากนั้นยังขึ้นกับอายุผู้ป่วย โดยพบว่า ปฏิกิริยากับผิวหนังนี้มักพบในคนอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

บรรณานุกรม

1. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25923020[2015,Dec19].

2.http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3445217/ [2015,Dec19].

3.http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/tattoos-and-piercings/art-20045067[2015,Dec19].

4.https://en.wikipedia.org/wiki/Tattoo_ink[2015,Dec19].