คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ประวัติศาสตร์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาของโลก

ประวัติศาสตร์รังสีรักษาของโลก เริ่มในปี คศ. 1895 (พ.ศ.2438)จากWilhelm Conrad Roentgen (เขียนอีกอย่างว่า Rontgen) นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันได้เป็นผู้ประกาศการค้นพบรังสีเอกซ์(X-ray, เอกซเรย์) เมื่อวันที่ 30 (บางตำราเขียนว่าเป็น วันที่ 8)พฤศจิกายน ค.ศ.1895 (พ.ศ. 2438) ซึ่งท่านผู้นี้ยังได้รับการยอมรับว่า เป็นคนแรกที่ใช้ รังสีเอกซ์ถ่ายภาพในคน คือ การเอกซเรย์มือของตัวท่านเอง และต่อมาในปี คศ.1901 (พ.ศ. 2444) ท่านก็ได้รับรางวัลโนเบลใน สาขาฟิสิกส์

อย่างไรก็ตาม มีบางคนตั้งข้อสงสัยว่าผู้ที่ค้นพบรังสีเอกซ์ เป็นคนแรก แต่ไม่ได้ประกาศการค้นพบ อาจเป็น JuliusPluckerนักฟิสิกส์ ชาวเยอรมัน ที่ได้ประดิษฐ์หลอดรังสี (Cathode ray tube) ในปี ค.ศ. 1859 (พ.ศ. 2402)

ในด้านการนำรังสีเอกซ์มาใช้เพื่อการรักษาโรค หลักฐานที่ระบุว่า ใครเป็นผู้นำมาใช้เป็นคนแรก ยังสับสน แต่ผู้ที่รายงานการใช้รังสีรักษา เป็นคนแรก คือ Emil Grubbeเป็นแพทย์ชาวเยอรมันซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยรายงานการใช้ในปีค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) ซึ่งท่านเริ่มใช้กับมือของท่านเองในปี ค.ศ. 1896(พ.ศ. 2439) และ ได้สังเกตเห็นว่าเกิดการอักเสบของผิวหนัง(dermatitis)ในบริเวณที่ได้รับรังสีนี้Grubbeยังเป็นคนแรกที่ใช้โลหะตะกั่วเป็นตัวกั้นเพื่อลดอันตรายจากรังสีเอกซ์และต่อมาได้เป็นผู้ให้การรักษาผู้ป่วย 2 รายแรก ในปีค.ศ. 1896 เช่นกันโดยเป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 1ราย และผู้ป่วยโรคlupus vulgaris (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง) 1 ราย

ในยุคนั้น มีข้อมูลสนับสนุนว่า รังสีเอกซ์ สามารถรักษา โรคมะเร็งและรักษาการอักเสบต่างๆทั้งจากการติดเชื้อ และ การอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อได้ ซึ่งในสมัยนั้น ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาการอักเสบติดเชื้อยังมีน้อย รังสีเอกซ์ จึงใช้รักษาทั้ง โรคมะเร็งโรคอักเสบจากติดเชื้อ (pyogenic infections), วัณโรคของต่อมน้ำเหลือง (chronic tuberulosis adenitis) และอีกหลายๆโรค

Henri Becquerel นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1895(พ.ศ. 2438)ในเวลาใกล้เคียงกับการประกาศพบรังสีเอกซ์ ของ Roentgen ได้ค้นพบปรากฏการเกี่ยวกับการแผ่รังสี (radioactivity) ของแร่ธาตุ แต่เป็น Marie Curies นักฟิสิกส์ชาวโปแลนด์ ในปี ค.ศ. 1898 (พ.ศ.2441)ที่ค้นพบแร่ เรเดียม (radium) และต่อมาในปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ.2444)Becquerel และ Curie ได้รายงานการศึกษาของตนว่า แร่เรเดียมสามารถให้รังสีชนิดที่น่าจะนำมาใช้ทางการแพทย์ได้

ต่อมาได้มีการนำแร่เรเดียมมาใช้รักษาผู้ป่วยครั้งแรก ณ โรงพยาบาล St. Louis ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยHenri Danlos& Eugene Bloch ซึ่งเป็นแพทย์โรคผิวหนัง โดยใช้รักษาโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง(cutaneous lupus)

ปี ค.ศ. 1922(พ.ศ. 2465)William Coolidgeนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ได้เป็นผู้บุกเบิกในการสร้างเครื่องฉายรังสีรักษาชนิดแรงลึก (deep x-ray) โดยเป็นเครื่องขนาด 200Kvและในปีเดียวกันนี้เอง Henri Coutardและ A. Hautantรังสีแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้นำเสนอเรื่องการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียงให้หายขาดได้ด้วยรังสีรักษาในที่ประชุมนานาชาติทางด้านการรักษาโรคมะเร็ง(International Congress of Oncology) ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนับเป็นการถือกำเนิดของการนำรังสีเอกซ์ มารักษาโรค ( clinical radiotherapy, รังสีรักษา)เป็นครั้งแรก

นอกจากนั้น Coutardในปี ค.ศ. 1934(พ.ศ. 2477) ได้เป็นผู้ปรับเปลี่ยนเทคนิคการฉายรังสีรักษาให้เป็นเทคนิคที่ต้องมีการฉายหลายๆครั้งต่อ 1 คอร์สของการรักษา (multiple fractionations) ซึ่งเป็นเทคนิคการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันและต่อจากนั้น รังสีรักษาก็ได้เจริญรุดหน้าอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคปัจจุบัน

แหล่งข้อมูล:

  1. History of radiation therapy - http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_radiation_therapy [2013,April 7].
  2. Lederman, M. The early history of radiotherapy: 1895-1939. Int J Radiation OncolBiol Phys. 1981; 7: 639-648.
  3. Perez C, and Brady L. Introduction. In Perez C, and Brady L. Principles and practice of radiation oncology .pp 1. New York, J. B. Lippincott Company, 1987.