คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม(ตอน1)

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสมาคมโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง โดยทั้งหมดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีการศึกษาทางการแพทย์สนับสนุนยืนยันแน่ชัด จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีการยืนยันแล้วจากการศึกษาทางการแพทย์ที่เป็นที่น่าเชื่อถือ มีดังนี้

1. การใช้ฮอร์โมนเพศในวัยหมดประจำเดือน

2. การได้รับรังสีประเภทไอออนไนซ์บริเวณเต้านม

3. โรคอ้วน

4. การดื่มแอลกอฮอล์

5. การสูบบุหรี่

การใช้ฮอร์โมนเพศในวัยหมดประจำเดือน

การศึกษาที่สำคัญต่างๆหลายการศึกษาที่เชื่อถือได้ทั้งจากสหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก พบว่า การใช้ฮอร์โมนเพศชนิดผสมระหว่าง Estrogen และProgestin เพื่อเป็นฮอร์โมนชดเชยหลังหมดประจำเดือนเป็นเวลานานต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ประมาณ 1.7 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมน ซึ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การใช้ Estrogenชดเชย เพียงชนิดเดียว เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมบ้าง แต่ไม่ต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติ

ดังนั้นปัจจุบัน ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการของวัยหมดประจำเดือน แพทย์จึงระมัดระวัง ใช้ยาฮอร์โมนรักษาเฉพาะกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่น หรือยาอื่นไม่ได้ผล และพยายามใช้ยาฮอร์โมนเดี่ยวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งเมื่ออาการรุนแรงจากภาวะหมดประจำเดือนบรรเทาลงแล้ว ก็จะเลิกใช้ฮอร์โมน รวมทั้งจะเลือกใช้ฮอร์โมนในปริมาณต่ำๆเท่านั้น

ส่วนการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการคุมกำเนิด การศึกษาเรื่องพบว่า ยาคุมกำเนิดทั้งชนิดฮอร์โมนเดี่ยวและฮอร์โมนผสม ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนต่อการเกิดมะเร็งเต้านม แพทย์สามารถแนะนำการใช้ได้นานตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (แต่คำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิตยา มักแนะนำให้ใช้ยาได้ไม่ควรเกิน 5 ปี) ยกเว้น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนผสมที่มีการปรับขนาดฮอร์โมนในแต่ละเม็ดของยา (Triphasic formulation)ที่ข้อมูลการศึกษาระบุว่า อาจเป็นปัจจัยเกิดมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งทางการแพทย์กำลังศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัด เพื่อการแนะผู้ใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนปรับระดับนี้ ก็ไม่นิยมใช้ทั่วไปอยู่แล้ว

การได้รับรังสีประเภทไอออนไนซ์บริเวณเต้านม

เป็นที่ทราบกันดีว่า รังสีเอกซ์ หรือรังสีประเภทไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) สามารถทำให้ DNA ของเซลล์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ถ้าได้รับรังสีนี้ต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มากพอ

หลายการศึกษาให้ผลตรงกันว่า รังสีฯชนิดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมได้โดยเฉพาะเมื่อได้รังสีฯนี้ที่เต้านมในช่วงวัยเด็กหรือในช่วงวัยรุ่น แต่เนื่องจากจำนวนผู้รับการศึกษามีน้อยจึงไม่สามารถเปรียบเทียบนัยสำคัญทางสถิติได้ (ทั้งนี้ การศึกษาส่วนใหญ่ได้จากผู้หญิงญี่ปุ่นที่ได้รับรังสีจากระเบิดปรมณูที่ฮิโรชิมา และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษาบริเวณหน้าอก และเต้านม) ดังนั้นการใช้รังสีรักษาในบริเวณเต้านม แพทย์จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับและปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งเต้านม และเมื่อจำเป็นต้องรักษา ก็จะใช้ปริมาณรังสีในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องได้รับรังสีรักษาร่วมด้วย หลายการศึกษาทางการแพทย์ที่มีผู้รับการศึกษาจำนวนมากให้ผลตรงกันว่า การฉายรังสีรักษามะเร็งเต้านม ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเต้านมอีกข้าง คือ อัตราเกิดมะเร็งเต้านมอีกข้าง ไม่ต่างกันระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับรังสีรักษาและผู้ป่วยที่ไม่ได้รับรังสีรักษา

วันนี้ ขอพักไว้เพียงปัจจัยที่ 2 ก่อน ขอต่อปัจจัยที่ 3-5 ในตอนหน้าคะ

บรรณานุกรม

1. http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/prevention/breast/HealthProfessional/page3#Section_410[2015,Sept19].

2. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/oral-contraceptives[2015,Sept19].

3. http://www.cancer.org/cancer/news/study-links-smoking-to-breast-cancer-risk[2015,Sept19].

4. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Tobacco/ETS[2015,Sept19].