คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: ปัจจัยต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังการฝังแร่รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การฝังแร่ หรือการใส่แร่ที่ต่อมลูกหมาก เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกที่โรคยังไม่ลุกลาม และเป็นวืธีที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง รวมถึงเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในบ้านเรา อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของการฝังแร่รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก คือ การทำให้เกิดภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว จากรังสีจากแร่ไปรบกวนเส้นประสาทที่ใช้ในการแข็งตัวนี้ แต่ผลข้างเคียงนี้ก็ยังพบอัตราเกิดได้น้อยกว่าการรักษาด้วย การผ่าตัด หรือการฉายรังสี คือพบได้ประมาณ 20-70% (อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากโดยเฉพาะที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และ/หรือมีโรคประจำตัว ก็มีปัญหานี้อยู่ก่อนการรักษาแล้ว) ดังนั้นแพทย์จึงอยากทราบว่า อะไรเป็นปัจจัยต่อการเกิด ภาวะไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศเมื่อรักษาด้วยการฝังแร่

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจาก สหราชอาณาจักร โดยคณะแพทย์ที่นำโดย นพ. W. Ong ที่ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการรักษาด้วยการฝังแร่ทั้งหมด 366 ราย ในช่วงปี ค.ศ. 1998-2011 และติดตามผลการรักษาได้นานที่ค่ามัธยฐาน(Median followup) 41เดือน (ช่วง 3-124 เดือน)

ผลการศึกษาพบว่า พบผู้ป่วยที่ ไม่มีอาการผิดปกติในเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังฝังแร่ 277 ราย (76%) และ มีการผิดปกติในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ 89 ราย (24%)

เมื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ผู้ป่วย 2 กลุ่มดังกล่าว พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอวัยวะเพศไม่แข็งตัวหลังการฝังแร่รักษา ได้แก่ การมีปัญหาการทำงานของอวัยวะเพศก่อนการรักษา อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป การมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน) ผู้ป่วยสูบบุหรี่ ต่อมลูกหมากมีขนาดโตมาก มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นชนิดรุนแรง และการใช้รังสีปริมาณสูง

คณะแพทย์ผู้ศึกษาสรุปว่า ผลการศึกษาจะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยทราบถึงปัจจัยเสี่ยงล่วงหน้าจากการรักษา เพื่อการปรับตัวของผู้ป่วย และเพื่อเป็นข้อมูล ใช้ประกอบสำหรับเลือกวิธีรักษา เช่น การผ่าตัด หรือ การฉายรังสี

บรรณานุกรม

Ong,W. et al. (2014). Radiotherapy and Oncology. 112, 72-76.