คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: อัตราการรอดชีวิตของมะเร็งเต้านมข้างซ้ายและข้างขวา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เมื่อมีเต้านม 2 ข้าง ย่อมมีข้อสงสัยเสมอว่า มะเร็งเต้านมข้างซ้าย และข้างขวา มีอัตราการอดชีวิตต่างกันไหม ทั้งนี้รวมไปถึงผลข้างเคียงต่างๆที่เกิดจากการรักษาโรคด้วย เช่น เต้านมข้างซ้ายจะอยู่ใกล้กับหัวใจ ดังนั้นการฉายรังสีรักษาในมะเร็งเต้านมข้างซ้ายและขวาน่าจะต่างกัน โดยในอดีต เชื่อว่า อัตราอยู่รอดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้านซ้ายจะต่ำกว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมขวา

ซึ่งเป็นเพราะผลข้างเคียงของรังสีต่อหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหัวใจในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมซ้ายมากกว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมขวา ซึ่งความสงสัยนี้ เป็นที่มาของการศึกษานี้ โดยคณะแพทย์จากมหาวิทยาลัย Yale สหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. C.E. Rutter โดยเป็นการศึกษาข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชาวสหรัฐอเมริกา ที่ได้จาก National Cancer Database ในช่วงปี ค.ศ. 1998-2006 และติดตามผลการรักษานานที่ค่ามัธยฐาน 6.04 ปี (ช่วง 0-14.17 ปี) ผู้ป่วยทั้งหมด 344,831 ราย เป็นมะเร็งเต้านมด้านซ้ายสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย คือ 50.7% (174,956 ราย) ค่ามัธยฐานของอายุผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มตรงกัน คือ 59.7 ปี ทั้งนี้ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มรวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในผู้ชาย มีรายละเอียดต่างๆทางการแพทย์ เช้น อายุ เพศ โรคประจำตัว และทางการรักษาทั้งด้านยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีรักษาไม่ต่างกันทางสถิติ โดยเป้าหมายการศึกษา คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมข้างซ้ายและข้างขวามีอัตรารอดชีวิตต่างกันหรือไม่

ผลการศึกษาพบว่า อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติ(p=0.874) และเมื่อศึกษาลึกเจาะกลุ่มเฉพาะผู้ป่วยที่ติดตามผลการรักษาได้นานอย่างน้อย 10 ปี(ระยะเวลาที่น่าจะตรวจพบผลข้างเคียงของรังสีที่เกิดกับหัวใจ) ก็ยังพบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติในอัตราอยู่รอด (p= 0.175) รวมไปถึงเมื่อแยกผู้ป่วยเป็นกลุ่มย่อยอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฉายรังสีเฉพาะเต้านม และกลุ่มที่ฉายรังสีทั้งเต้านมและต่อมน้ำเหลืองรักแร้ อัตราอยู่รอดก็ยังไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติ คือ p= 0.368 และ p= 0.155 ตามลำดับ

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปผลการศึกษาว่า ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วยการฉายรังสีด้วยเทคนิคที่ใช้ในปัจจุบัน อัตราอยู่รอดของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้านซ้าย และด้านขวาไม่มีความแตกต่างกัน และการศึกษานี้น่าชื่อถือ เพราะศึกษาในจำนวนผู้ป่วยที่มากพอ รวมถึงสามารถติดตามผการรักษาได้นานพอ กล่าวคือ ในระยะเวลาที่ถ้าจะเกิดผลข้างเคียงต่อหัวใจ ก็จะพบผลข้างเคียงนั้นๆได้แล้ว

สรุป ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ส่ามารถลดความกังวลลงได้แล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมด้านไหน อัตรารอดชีวิตก็ไม่แตกต่างกัน

บรรณานุกรม

Rutter, C. et al. (2014). Inter Nat J Radiationa oncol Biol and Physics. 90, 329-334