คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: วัคซีนรักษามะเร็งปอด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ดังที่ทุกคนทราบกันดีว่า มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงโรคสูงมากในทุกชนิดของเซลล์มะเร็ง แต่ในกลุ่มมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer) ได้มีการค้นพบ จีน/ยีน/พันธุกรรมที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ที่เรียกว่า MAGE-A3 gene ที่พบได้ในมะเร็งอีกหลายชนิด เช่น ในมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา และนักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นวัคซีนต้านการทำงานของจีนตัวนี้ได้ เรียกวัคซีนนี้ว่า ‘วัคซีน MAGE-A3 หรือ MAGE-A3 vaccine’ ดังนั้นแพทย์ทั่วโลกจึงได้สนใจ นำวัคซีนตัวนี้มาใช้รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต ในโรคระยะที่ 1B, 2, และ 3A ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกหมดแล้ว ทั้งนี้เพราะการรักษาสำหรับโรคกลุ่มนี้ คือ การผ่าตัดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด แต่ผู้ป่วยเป็นจำนวนมากก็ไม่สามารถทนต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ รวมถึงผู้ที่ได้รับการรักษาครบถ้วน อัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็งปอด ก็ยังต่ำ มักต่ำกว่า 50%

การศึกษาการใช้วัคซีนครั้งนี้ จัดเป็นการศึกษาที่ใหญ่มากของโลก รวบรวมผู้ป่วยมะเร็งปอดจากทั่วโลก โดยคณะแพทย์ผู้ศึกษา นำโดบ นพ. Johann Vansteenkiste จากประเทศเบลเยียม และได้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการด้านโรคมะเร็งของยุโรป(ESMO, European Society for Medical Oncology) ที่ประเทศสเปนเมื่อ กันยายน 2014

การศึกษานี้ ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตที่ตรวจพบมีพันธุกรรม MAGE-A3 ทั้งหมด 2,272 ราย อายุกึ่งกลางของผู้เข้ารับการศึกษา/มัธยฐานทั้งหมด(Median age) อยู่ที่ 63 ปี และในการนี้เป็นผู้หญิง 24%

การศึกษา เป็นการศึกษาทางการแพทย์ระยะที่ 3 โดยการสุ่มตัวอย่าง แบ่งผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่ม คือ ได้รับการผ่าตัด+ยาเคมีบำบัด +วัคซีน, กลุ่มได้รับการผ่าตัด+ยาเคมีบำบัด, กลุ่มได้รับการผ่าตัด+วัคซีน และ กลุ่มได้รับการผ่าตัดวิธีการเดียว ซึ่งกลุ่มได้รับวัคซีนจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อรวมทั้งหมด 13 เข็มในช่วงระยะเวลา 27 เดือน โดยติดตามการรักษาได้ระยะเวลากึ่งกลาง/มัธยฐาน (Median follow up) นาน 38.8 เดือน

ผลการศึกษาพบว่า อัตราการปลอดจากโรค (DFS, Disease free survival)ของผู้ป่วยทุกกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยอัตราปลอดจากโรคอยู่ในช่วง 56.9 – 60.5 เดือน

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปผลการศึกษาว่า วัคซีน MAGE-A3 ไม่สามารถเพิ่มอัตราการปลอดจากโรคของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต หลังการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด ในมะเร็งระยะ 1B, 2, และ3A

สรุป ผลการศึกษาครั้งนี้ สร้างความผิดหวังให้ทุกคนในวงการโรคมะเร็งปอด แต่ทุกคนก็ยังไม่หมดหวัง โดยจะยังคงการศึกษาเรื่องการใช้วัคซีนในมะเร็งปอด ต่อไปด้วยการค้นหาวัคซีนตัวใหม่ๆขึ้นมาทดแทนตัวที่ไม่ได้ผล

บรรณานุกรม

1. http://www.esmo.org/Conferences/ESMO-2014-Congress/Press-Media/MAGRIT-Phase-III-Trial-Results-Raise-Questions-About-the-Future-of-Lung-Cancer-Vaccination [2015,Aug15]