คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งรักษาได้หายในอัตราสูงถ้าพบโรคได้ตั้งแต่ในระต้นๆ การรักษา คือการผ่าตัด อาจร่วมกับยาเคมีบำบัดกรณีชนิดเซลล์รุนแรง แต่ปัญหา ปัจจุบันคือ มักพบมะเร็งรังไข่ในระยะลุกลาม คือ ระยะ3 เนื่องจาก เป็นมะเร็งที่อยู่ลึกในช่องท้องน้อย และมักไม่มีอาการในโรคระยะต้นๆ นอกจากนั้นยังไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งรังไข่ ซึ่งการแพทย์ในปัจจุบัน ก็ยังหาวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยลดอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ไม่ได้

เมื่อ 8 ตุลามคม 2014 ได้มีการเผยแพร่การศึกษาจากวารสารการแพทย์ชื่อ Obstetrics &Gynecology โดยเป็นการเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต ถึงวิธีที่อาจเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ได้ในอนาคต ถึงแม้การศึกษาจะเป็นเพียงการศึกษาเล็กๆที่เพิ่งเริ่มต้นก็ตาม การศึกษานี้เป็นของคณะแพทย์ จาก มหาวิทยาลัย Virginia School of Medicine Charlottesville นำโดย นพ. Charles Landen เป็นการศึกษาเพื่อหาสารพันธุกรรมที่เป็น DNA ที่เรียกว่า TP53 ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งรังไข่ โดยการสอดผ้าอนามัยชนิดสอดในช่องคลอดของผู้หญิงที่มีก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกรานก่อนการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก และนำผ้าอนามัย มาตรวจหาสาร DNA จากเซลล์/ของเหลวจากช่องคลอดที่ติดอยู่ที่ผ้าอนามัยหลังผ่าตัด ร่วมกับ ศึกษาหา DNA นี้จากก้อนเนื้องอกหลังผ่าตัด ซึ่งได้ศึกษาทั้งหมดในผู้หญิง 33 ราย ซึ่งโดยทฤษฎี เชื่อว่า เซลล์มะเร็งจากรังไข่จะมี DNA นี้อยู่ และจะถูกปล่อยออกมาในช่องคลอด ทำให้สามารถตรวจพบได้จากเซลล์/ของเหลวจากช่องคลอด

ผลการศึกษาพบว่า การตรวจวิธีนี้สามารถช่วยวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ได้ แต่ความไวในการตรวจพบ (Sensitivity) เพียง 60% ซึ่งต่ำเกินไปที่จะนำมาใช้ทางคลินิก/ทางปฏิบัติเพื่อการคัดกรองมะเร็งรังไข่

ผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษานี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ แต่จำเป็นต้องศึกษเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีตรวจที่จะเพิ่มความไวในการตรวจพบ DNA ที่ผิดปกตินี้ให้ได้สูงพอที่จะนำมาใช้ทางคลินิกได้ คือ อย่างน้อย ประมาณ 80-90%

สรุป การศึกษานี้ ถึงแม้จะยังนำมาใช้ทางคลินิกไม่ได้ในขณะนี้ แต่ก็เป็นอีกแนวทางที่ แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์จะดำเนินการศึกษาต่อ เพื่อให้ได้วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สามารถนำมาใช้ทางคลินิกได้อย่างได้ผลในการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ เช่นเดียวกับในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

บรรณานุกรม

  1. http://journals.lww.com/greenjournal/Abstract/publishahead/Detection_of_Somatic_TP53_Mutations_in_Tampons_of.99314.aspx [2015,July 18]