คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: บุหรี่กับการติดเชื้อเอชพีวี 16 ของช่องปากและคอ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV: Human papillomavirus) สายพันธ์ย่อย 16 เป็นสายพันธ์ที่สามารถทำให้เมื่อติดเชื้อ จะส่งผลให้เซลล์ร่างกายเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งที่พบ คือ การติดเชื้อที่ปากมดลูก และเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

นอกจากการติดเชื้อเอชพีวีที่อวัยวะเพศแล้ว ยังติดเชื้อเอชพีวีในช่องปากและคอได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

การศึกษานี้ เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ JAMA (Journal of the American Medical Association) ซึ่งเผยแพร่ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ทเมื่อ 8 ตุลาคม 2014 โดยเป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ โรงพยาบาล Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา นำโดย พญ. Carole Fakhry โดยศึกษาในผู้ชายและผู้หญิง ที่สูบบุหรี่ 2,012 คน(ประมาณ 80% สูบบุหรี่ชนิดมวน ที่เหลือสูบบุหรี่ในรูปแบบอื่น เช่น สูบกล้อง เป็นยานัตถุ์ หรือเคี้ยวใบยาสูบ) ในการนี้ 63%ของผู้สูบบุหรี่ติดเชื้อ HPV 16 ซึ่งเมื่อศึกษาจากการตรวจเลือดเพื่อดูสารจากบุหรี่ พบว่าอัตราการติดเชื้อพบสูงขึ้นในคนที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 3 มวนขึ้นไปต่อวัน

ผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า การสูบบุหรี่ ด้วยวิธีใดก็ตาม รวมถึงการสูบบุหรี่มือสอง สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี 16 ในช่องปากและคอ แต่ไม่อาจสรุปได้ว่า สัมพันธ์กันอย่างไร หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อ เพราะการศึกษาไม่ได้มีรายละเอียดในพฤติกรรมอื่น เช่น วิธีการในการมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้น ที่จะขยายขอบข่ายการศึกษาให้ได้มาซึ่งคำตอบว่า บุหรี่สัมพันธ์อย่างไรกับการติดเชื้อ เอชพีวี 16 ในช่องปากและคอ เพื่อนำมาซึ่งการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งช่องปากและคอสาเหตุจากเอชพีวี 16

แต่ในฐานะผู้อ่าน ประโยชน์จากงานศึกษานี้ก็คือ บุหรี่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวี 16 ของช่องปากและคอ ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุหนึ่งของมะเร็งช่องปากและคอ ดังนั้นการเลิกบุหรี่ การไม่สูบบุหรี่ การไม่สูบบุหรี่มือสอง ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันมะเร็งช่องปากและคอ ซึ่งผลพลอยได้จากไม่สูบบุหรี่ คือ ลดโอกาสเกิดโรคต่าง ที่สำคัญ คือ โรคปอดต่างๆ (เช่นถุงลมโป่งพอง) โรคท่อเลือดแดงแข็ง และโรคมะเร็งอีกหลายชนิดที่มีบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งของอวัยวะในส่วนศีรษะและลำคอ

บรรณานุกรม

  1. http://www.techtimes.com/articles/17440/20141009/tobacco-users-at-higher-risk-for-oral-hpv-study.htm [2015,June 20]