คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: รังสีรักษาปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เรื่องที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นงานศึกษาวิจัยเรื่องที่ 2(เรื่องแรก เล่าให้ฟังเมื่อตอนที่แล้ว) ของคณะแพทย์จาก โรงพยาบาล University Hospital Leuven ประเทศเบลเยี่ยม นำโดย นพ. Frederic Amant ซึ่งผลการศึกษานำเสนอในการประชุมประจำปีของสมาคมหลักด้านโรคมะเร็งของยุโรป (ESMO: European Society for Medical Oncology) ที่จัดขึ้นเมื่อ 26-30 กันยายน 2014 ที่ประเทศสเปน โดยเป็นการศึกษาถึงผลของรังสีรักษาต่อทารกในครรภ์เมื่อมารดาเป็นโรคมะเร็งและได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา โดยศึกษาในเด็ก 16 คนที่มารดาได้รับรังสีรักษาในช่วงตั้งครรภ์ โดยศึกษาเมื่อเด็กอายุในช่วงประมาณ 6 ปี (Median age, 6 ปี) และในผู้หญิง 10 คนที่อายุในช่วงประมาณ 33 ปี (Median age, 33 ปี) ที่เคยไดรับรังสีในช่วงที่อยู่ในครรภ์เช่นกัน โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่อยู่ในวัยเดียวกัน โดยดูในเรื่องของการเจริญเติบโต โรคหัวใจ การพัฒนาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมอง ทั้งนี้มารดาจะได้รับรังสีประมาณ 48 Gray(ช่วง 12-70 Gray/หน่วยทางรังสีรักษา) ในขณะที่ทารกได้รังสีประมาณ 91 milligray (ช่วง 0-1690 milligray)

ผลการศึกษา ไม่พบว่า เด็กและผู้หญิงกลุ่มได้รับรังสีขณะตั้งครรภ์ แตกต่างทางสถิติกับกลุ่มควบคุม ซึ่งการศึกษานี้ จำนวนกลุ่มศึกษาจะน้อย จากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดได้น้อย แต่เป็นการศึกษาแรกที่รายงานผลในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม คณะผู้ศึกษา สรุปว่า การได้รับรังสีรักษาของมารดาช่วงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 อุบัติการทางการเจริญเติบโต และทางสมองของทากไม่ต่างจากทารกทั่วไป แต่ไม่ควรให้รังสีในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทารกจะไวต่อรังสีมากเป็นพิเศษ โอกาสเกิดผลข้างเคียงจากรังสีจึงสูงขึ้น และให้ระวังในไตรมาสที่ 3 เพราะครรภ์จะโตมากและเข้ามาใกล้กับเต้านมมากขึ้น โอกาสทารกจะได้รับรังสีปริมาณสูงจึงสูงขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีในการฉายรังสีในปัจจุบัน เช่น การฉายรังสี 3 มิติ ก็จะช่วยลดปริมาณรังสีต่อทารก/ต่อมดลูกลงได้อย่างมาก ดังนั้นถ้ามีการวางแผนทางการรักษาที่เหมาะสม โอกาสที่จะฉายรังสีได้อย่างปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ก็จะสูงขึ้นจนไม่พบความแตกต่างกับทารกจากครรภ์ทั่วไป

สรุป การศึกษานี้ เป็นข้อมูล ที่อาจใช้ช่วยการวางแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว แต่แพทย์ทุกท่านยังเน้นความสำคัญที่ว่า หญิงในวัยเจริญพันธ์ที่เป็นมะเร็งต้องคุมกำเนิดตามแพทย์แนะนำให้ดี เพราะการตั้งครรภ์ระหว่างเป็นมะเร็งส่งผลถึงทั้งมารดา และทารก การรักษาต่างๆถึงแม้โอกาสปลอดภัยจะสูงขึ้น แต่ก็ไม่เต็มร้อย และจะยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีสูง ซึ่งเทคโนโลยีทางรังสีรักษานี้ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และอาจไม่ครอบคลุมอยู่ในสิทธิทางการรักษา การตระหนักถึงการป้องกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องร่วมมือกันทั้ง ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ฝ่ายหญิง

บรรณานุกรม

  1. http://cancerology.blogspot.com/2014/09/esmo-2014-chemotherapy-and-rt-in.html [2015,June 20]