คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: คีโมปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในหญิงที่เกิดเป็นมะเร็งพร้อมกับการตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้น้อยมาก แต่ก็ยังพบได้ โดยมักพบในมะเร็งที่เกิดในหญิงอายุน้อย นั่นคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และ มะเร็งเต้านม ซึ่งมักเกิดปัญหาทางการรักษาเสมอ เพราะตัวอ่อน/ทารกในครรภ์จะไวมากต่อทั้งยาเคมีบำบัด(Chemotherapy/คึโม) และรังสีรักษาที่เป็นวิธีหลักในการรักษามะเร็งในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 วิธีรักษาอาจก่อให้เกิดการแท้ง หรือเด็กที่เกิดมีความพิการแต่กำเนิด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์มีความกดดันอย่างสูงที่จะต้องเลือกที่จะให้ผู้ป่วยทำแท้ง หรือ รอจนกว่าเด็กในครรภ์จะโตพอ แล้วให้คลอดก่อนกำหนด แล้วจึงเริ่มการรักษา ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้มารดาเสี่ยงต่อการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง พูดง่ายๆก็คือ จะต้องเลือกระหว่างแม่ หรือ ลูก

ในการประชุมประจำปีของสมาคมหลักด้านโรคมะเร็งของยุโรป (ESMO: European Society for Medical Oncology) ที่จัดขึ้นเมื่อ 26-30 กันยายน 2014 ที่ประเทศสเปน ได้มีการเสนองานศึกษาที่จำนวนผู้ป่วยไม่มาก แต่ก็เป็นการศึกษาที่ยังไม่เคยมีมาก่อน จึงเป็นการศึกษาที่ทุกคนชื่นชม และอย่างน้อย ก็ใช้เป็นแนวทางช่วยการตัดสินใจของผู้ป่วยและครอบครัว รวมไปถึงแพทย์ได้ เมื่อพบกับปัญหานี้ นั่น คือการศึกษา โดยคณะแพทย์จากประเทศเบลเยี่ยม นำโดย นพ. Federic Amant ซึ่งเสนอ ผลงานศึกษา 2 เรื่อง คือ ยาเคมีบำบัดในหญิงตั้งครรภ์, และรังสีรักษาในหญิงตั้งครรภ์ ทั้งนี้ เพื่อศึกษาถึงความปลอดภัยของทั้ง 2 เรื่องสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะนำมาเล่าให้ฟัง แต่ขอแยกเป็น 2 ตอน(2 เรื่อง) วันนี้จะเป็นเรื่องของ ความปลอดภัยของยาคีโมต่อทารกในครรภ์ เมื่อใช้รักษาในหญิงตั้งครรภ์

การศึกษานี้ คือ ศึกษาผลของยาเคมีบำบัดต่อทารกในครรภ์ในผู้หญิงที่เป็นมะเร็ง เปรียบเทียบกับทารกที่เกิดจากหญิงทั่วไป เป็นการศึกษาจากโรงพยาบาล University Hospitals Leuven ประเทศเบลเยี่ยม

เป็นการเฝ้าติดตาม (Case control study) ผลและเปรียบเทียบระหว่างทารก 38 คนที่เกิดจากหญิงที่เป็นมะเร็งขณะตั้งครรภ์ (เป็นทารกชาว เบลเยียม เนเทอร์แลนด์ และอิตาลี ที่ได้จาก International Network for Cancer, Infertility and Pregnancy registry) โดยมารดาเป็นมะเร็งเต้านม 61% ,มะเร็งทางโลหิตวิทยา 22%, ที่เหลือเป็นมะเร็งอื่นๆ ในการนี้61% ได้รับยาเคมีบำบัด ชนิด Anthracyclines (ยาเคมีบำบัดที่มีผลต่อหัวใจมากกว่ายาเคมีบำบัดชนิดอื่น)ร่วมด้วย และติดตามทารกหลังคลอดเพื่อดูการเจริญเติบโตไปนาน 2 ปี คือจนเด็กอายุประมาณ 2 ขวบ และดูผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดที่อาจส่งผลต่อทารก โดยเฉพาะต่อโรคทางด้านหัวใจ และทางด้านสมอง ที่รวมถึงสติปัญญาของเด็ก เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นทารก 38 รายเช่นกัน ที่เกิดกับมารดาทั่วไป

ผลการศึกษาพบว่า เด็กทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มารดาได้ยาเคมีบำบัด และกลุ่มที่มารดาไม่ได้รับยาเคมีบำบัด มีการเจริญเติบ พัฒนาการ อัตราการเกิดโรคทางหัวใจ และ/หรือโรคทางสมอง ไม่ต่างกันทางสถิติ

ผู้ศึกษาสรุปว่า ถึงแม้จำนวนผู้เข้าศึกษาจะน้อย แต่ก็นับว่ามากพอเพราะเป็นกรณีที่พบได้น้อย การจะได้จำนวนผู้เข้าศึกษามากขึ้น จำเป็นต้องร่วมมือกันในหลายๆโรงพยาบาล หรือหลายประเทศ และถึงแม้ระยะเวลาติดตามผลยังสั้นอยู่คือเพียง 2 ปี ที่คงต้องติดตามเด็กให้นานกว่านี้ แต่ก็เป็นแนวทางให้ได้ทราบว่า การรักษาน่าจะปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ศึกษาได้สรุปว่า การให้ยาเคมีบำบัดที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อทารก ควรเริ่มในช่วงที่เป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 เพราะไตรมาสที่ 1 โอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อทารกน่าจะสูงขึ้นเพราะเป็นช่วงที่เซลล์ทารกจะไวมากต่อคึโม

นอกจากนั้น ถึงแม้ผลการศึกษาจะให้ผลในเชิงบวก แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ตั้งครรภ์ช่วงเป็นมะเร็ง เพราะส่งผลทางด้านจิตใจมากทั้งต่อ ผู้ป่วย ครอบครัว และบุคคลากรทางแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งวัยเจริญพันธ์ทุกคนต้องคุมกำเนิดให้ดี ตามแพทย์แนะนำเสมอ เพราะลำพังไม่ตั้งครรภ์ ภาระในการดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งก็สูงอยู่แล้ว ถ้ายิ่งตั้งครรภ์ ภาระจะยิ่งสูงขึ้นมาก ทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สรุป การคุมกำเนิดตามแพทย์แนะนำในหญิงวัยเจริญพันธ์ที่เป็นมะเร็ง เป็นเรื่องจำเป็น สำคัญมาก ถึงแม้จะมีการศึกษาว่าน่าจะปลอดภัยสำหรับทารกจากยาเคมีบำบัด แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ในจำนวนเด็กที่มากกว่านี้ รวมทั้งต้องติดตามผลให้นานกว่านี้ คือติดตามไปจนถึงเมื่อเด็กเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งความสำเร็จในการคุมกำเนิดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้ง ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย ไม่ใช่จากฝ่ายหญิงเพียงฝ่ายเดียว

บรรณานุกรม

  1. http://cancerology.blogspot.com/2014/09/esmo-2014-chemotherapy-and-rt-in.html [2015,June 20]