คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: มะเร็งเต้านมในผู้ชาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เมื่อพูดถึงมะเร็งเต้านม ทุกคนจะนึกถีงเป็นมะเร็งของผู้หญิง ไม่รู้ว่ามีกี่% ที่รู้ว่า ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้ ทั้งนี้ที่คนทั่วไปลืมไปว่าผู้ชายก็มีเต้านมและเป็นมะเร็งเต้านมได้ เป็นเพราะ มะเร็งเต้านมในผู้ชายพบได้น้อยมาก ในสหรัฐอเมริกา(ต้องอ้างถึงประเทศนี้เสมอ เพราะเป็นประเทศที่มีข้อมูลทางการแพทย์โดยเฉพาะสถิติต่างๆมากที่สุดในโลกทีเดียว และที่สำคัญมีการเผยแพร่ให้ทั่วโลกทราบอย่างกว้างขวาง และทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จากอินเทอร์เน็ท) อัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงจะประมาณ 1 รายในประชากรหญิง 8-10 คน แต่พบมะเร็งเต้านมในผู้ชายได้เพียงประมาณ 1 รายต่อประชากรชาย 1,000 คน

ปัจจุบันไม่ค่อยมีข้อมูลทางโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่อง ปัจจัยเสี่ยง การตรวจวินิจฉัย และการรักษา จะใช้ต้นแบบมาจากมะเร็งเต้านมผู้หญิงทั้งหมด แต่ในระยะหลังนี้ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสนใจศึกษาเรื่องของมะเร็งเต้านมในเพศชายมากขึ้น

การศึกษาต่างๆ พบว่าปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในผู้ชายที่สำคัญ คือ การมีพันธุกรรม/จีน/ยีน/Geneที่ผิดปกติ ที่พบแล้ว คือ จีนตัวเดียวกับที่พบในผู้หญิง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ คือ ในคนที่มีเชื้อสายเป็นชาวยิว ซึ่งได้แก่จีนที่มีชื่อว่า BRCA1(บีอาร์ซีเอวัน) และ BRCA2(บีอาร์ซีเอทู) ซึ่งถ้าผู้ชายคนไหนมียีนผิดปกตินี้ โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มเป็น 1 ใน 100

อีกความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมในผู้ชาย คือ การมีความผิดปกติในโครโมโซมเพศ ซึ่งผู้ชายทั่วไปจะมีโครโมโซมเพศ คือ XY (เอ็กซ์ และ วาย อย่างละ 1 ตัว โดย X คือ โครโมโซมที่แสดงความเป็นเพศหญิง และ Y เป็นตัวแสดงเพศชาย ส่วนผู้หญิงจะโครโมโซมเพศเป็น XX ไม่มี Y) แต่ถ้าผู้ชายคนไหนมี โครโมโซมเพศผิดปกติ คือ เป็น XXY กล่าวคือ มีตัวเพศหญิงเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตัว ที่ภาวะนี้มีชื่อเรียกว่า กลุ่มอาการ คลายเฟลเทอร์/Klinefelter syndrome, พบได้ประมาณ 1 รายต่อผู้ชาย (ชาวตะวันตก) 500-1,000 คน (ยังไม่มีรายงานสถิติในชายไทย) ทั้งนี้เพราะร่างกายจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้)สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มอาการนี้ พบได้ในทุกเชื้อชาติ โดยผู้มีความผิดปกตินี้ มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ชายทั่วไป ประมาณ 50 เท่า

นอกจากนั้นปัจจุบัน ยังพบจีนอีกชนิดที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในเพศชาย จีนนั้นชื่อ RAD 51 ซึ่งการศึกษาที่ต่อเนื่อง คงทำให้เรามีข้อมูลในจีนตัวนี้มากขึ้น จนนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาพยาบาลโรคมะเร็งเต้านมได้ เช่นเดียวกับจีน BRCA1 และBRCA2

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เชื่อว่าเหมือนในผู้หญิง คือ โรคอ้วน สูบบุหรี่ และอาจดื่มสุรา

สมาคมโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ผู้ชาย ระลึกอยู่เสมอว่า มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในเพศชายได้ โดยอาการสำคัญเช่นเดียวกับในเพศหญิง คือ มีก้อนที่เต้านม(มักเป็นข้างเดียว ข้างขวา หรือซ้าย มีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน) ก้อนโตได้ค่อนข้างเร็ว และอาจมีสารคัดหลั่งออกจากหัวนมได้ ดังนั้นในช่วงอาบน้ำ ควรตั้งใจลูบคลำเต้านมของตนเองทั้ง 2 ข้าง เพื่อดูว่า พบก้อนเนื้อผิดปกติหรือไม่ หรือมีอะไรออกจากหัวนมผิดปกติหรือไม่

ซึ่งถ้าคลำได้ก้อนเนื้อในเต้านม ที่ไม่ใช่เกิดในวัยรุ่นช่วงเริ่มเป็นหนุ่มมีนมแตกพาน หรือมีสารคัดหลั่งออกจากหัวนมผิดปกติ (เช่น เป็นเลือด หรือมีน้ำนม) ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาในเรื่องนี้ คือ ศัลยแพทย์ แต่อาจพบแพทย์ทั่วไปก่อนให้แพทย์ช่วยตรวจยืนยันให้ ถ้ายังไม่สะดวกที่จะพบศัลยแพทย์

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Klinefelter_syndrome [2015,April 18]