คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

คุยกันต่อจากตอนที่แล้วนะคะ ที่เล่าเรื่องของโรคมะเร็ง วิธีจะทราบได้อย่างไรว่า อาจมีโอกาสเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเมื่อเข้าข่ายว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่อการอาจเกิดมะเร็งจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมดังได้เล่าเมื่อครั้งก่อน แพทย์ที่ให้การดูแลโรคมะเร็งของครอบครัวอยู่ มักจะให้คำแนะนำว่า ควรตรวจคัดกรองมะเร็งอะไรบ้าง และควรตรวจคัดกรองอย่างไร ซึ่ง มะเร็งที่น่ามีการตรวจคัดกรอง และอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ คือ มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย

ในมะเร็งเต้านม แพทย์อาจแนะนำการตรวจภาพรังสีเต้านม(แมมโมแกรม/Mammogram) ตั้งแต่อายุ 40 ปี (ปกติจะแนะนำการตรวจเมื่ออายุ 50 ปี) และในบางคน อาจต้องตรวจเต้านมด้วยเทคนิคเฉพาะด้วยเอมอาร์ไอ นอกจากนั้นคือ การตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือ ถ้าประเมินแล้วมีปัจจัยเสี่ยงมากที่จะเกิดมะเร็งเต้านม แพทย์ อาจแนะนำการกินยาชนิดเฉพาะ เพื่อลดโอกาสเกิดที่เรียกว่า Chemoprevention หรือ แนะการผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 ข้าง และ/หรือแนะนำการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง กรณีที่มีบุตรพอแล้ว ทั้งนี้ การรักษาทั้ง 3 วิธี มีข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน แพทย์จะแนะนำเป็นกรณีไป แต่ครอบครัวต้องตัดสินใจการรักษาเอง

ในเรื่องของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์อาจแนะการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 40 ปี (ปกติ จะคัดกรองในอายุตั้งแต่ 50 ปี) ซึ่งในมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีที่จะใช้ป้องกันการเกิดโรค

ในเรื่องของมะเร็งรังไข่ การป้องกัน คือ การผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างหลังมีบุตรครบตามต้องการแล้ว

ส่วนโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองเฉพาะ รวมทั้งวิธีป้องกันเฉพาะ แพทย์จะนำการดูแลสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งโดยทั่วไป คือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน, การออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ, การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ทุกวัน, ไม่สูบบุหรี่, ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ไม่ส่ำส่อนทางเพศ, รวมถึงการพยายามอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี หลีกเลี่ยงมลภาวะต่างๆที่เป็นสารก่อมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ คือ

  • การดูแลสุขภาพเพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็ง ควรทำในทุกคน ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมเท่านั้น
  • ในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว มะเร็งปากมดลูก ก็ยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองทุกปี ถึงแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมก็ตาม
  • การป้องกัน และการตรวจคัดกรองทุกวิธีการ มีข้อจำกัด ไม่ได้ผล 100% ดังนั้นจึงต้องยอมรับความจริงข้อนี้ด้วย เช่น ถึงแม้ผ่าตัดรังไข่แล้ว ก็ยังมีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ได้ประมาณ 10% เพราะโรคจะไปเกิดกับเยื่อบุช่องท้องแทน เพราะมีเนื้อเยื่อคล้ายเนื้อเยื่อรังไข่ เป็นต้น
  • การรักษาสุขภาพจิต เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่กังวลกับปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งมากจนเกินเหตุ