คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ตอนคุณภาพขีวิตกับผลการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มีรายงานการศึกษาในผูป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 431 รายที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เป็นการศึกษาโดย คณะแพทย์ที่นำโดย Bingener,J จาก Mayo clinic สหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาว่า คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก่อนผ่าตัดโดยเฉพาะเมื่อเกิดจากปัญหาในครอบครัว จะส่งผลถึงการรักษาหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้เพื่อแพทย์ พยาบาลใช้เป็นข้อมูลให้การรักษาดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมเพื่อให้ผลการรักษาหลังการผ่าตัดดีขึ้น

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะด้านครอบครัวก่อนการผ่าตัด หลังผ่าตัดจะเกิดผลข้างเคียงระยะเฉียบพลันจากการผ่าตัดที่รุนแรงได้สูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาครอบครัวถึงประมาณ 3 เท่า (16% เทียบกับ 6%) และมักจะต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้นกว่าอีกกลุ่มประมาณ 3.5 วัน ทั้งนี้ไม่ขึ้น กับอายุผู้ป่วย เพศ และระยะโรคมะเร็ง ซึ่งผลข้างเคียงที่พบโอกาสเกิดมากขึ้น คือ แผลเลือดออก แผลติดเชื้อ การติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีรายงานเป็นสาเหตุเสียชีวิต ในผู้ป่วย 2 ราย

ผลของการมีปัญหาคุณภาพชีวิตด้านอารมณ์ จิตใจ จะส่งผลถึงปัญหาสุขภาพกายเสมอ เช่น ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง จึงติดเชื้อต่างๆได้ง่าย, ส่งผลให้ไม่อยากเคลื่อนไหว ดื่มน้ำได้น้อย มักคลื่นไส้ วิงเวียน ต้องใช้สายสวนปัสสาวะค้างอยู่นาน, และมักไม่สามารถปฏิบัติตามการสอนของแพทย์ พยาบาลเพื่อการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการผ่าตัดโดยเฉพาะการติดเชื้อที่ปอดและทางเดินปัสสาวะ, ร่างกายขาดการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม, ขาดอาหาร และน้ำดื่ม ส่งผลให้แผลติดได้ช้า แต่ติดเชื้อได้ง่าย เหตุที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสาเหตุให้เกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัดสูงขึ้น

ประโยชน์ที่เราน่าจะได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ ถ้ามีคนในครอบครัว ต้องรับการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็ง เราต้องช่วยกันให้กำลังใจ ช่วยกันคลี่คลายปัญหาต่างๆให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก่อนการผ่าตัด เพื่อเป็นอีกช่องทางลดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดที่อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

แหล่งข้อมูล

  1. http://link.springer.com/article/10.1007/s11605-014-2613-2 [2015,Feb 21].