คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การรักษามะเร็งอัณฑะ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งอัณฑะ(มะเร็งเฉพาะในเพศชาย) เป็นมะเร็งชนิดพบได้น้อย ในคนไทยพบได้เพียง 0.6 รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน แต่เมื่อพบ จะพบสูงในวัยฉกรรจ์ คือ อายุช่วง 20-35 ปี มักเกิดข้างเดียว ซ้ายหรือขวาเท่ากัน โอกาสเกิด 2 ข้างประมาณ 5% เป็นมะเร็งที่ตอบสนองได้ดีมากทั้งจากยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา การรักษาหลัก คือ การผ่าตัดอัณฑะด้านเกิดโรค และร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือ รังสีรักษา

อัณฑะเป็นอวัยวะอยู่นอกร่างกาย คลำพบได้ง่าย และมักคลำกันอยู่แล้วช่วงอาบน้ำ ดังนั้น เมื่อเกิดโรค จึงมักพบโรคเกือบทั้งหมดในระยะที่ 1

มะเร็งอัณฑะ มี 2 ชนิดหลัก คือ ชนิด เซมิโนมา (Seminoma) และชนิดไม่ใช่เซมิโนมา (Non-seminoma) ซึ่งมีความรุนแรงโรคสูงกว่าชนิด เซมิโนมา แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งอัณฑะมีการพยากรณ์โรคดีมาก โอกาสหายขาดในโรคระยะที่ 1 สูงถึงประมาณ 95% ดังนั้นแพทย์จึงพยาย่ามหาวิธีรักษาที่จะก่อผลข้างเคียง(จากการรักษา)ต่อผู้ป่วยให้ได้น้อยที่สุด จึงมีการศึกษาหลายการศึกษา เสนอให้ใช้การตรวจติดตามโรคโดยไม่มีการให้ยาเคมีบำบัด หรือ รังสีรักษา หลังผ่าตัดในโรคระยะที่1 ของมะเร็งอัณฑะทั้ง 2 ชนิด ที่เรียกวิธีนี้ว่า Active surveillance

การศึกษาล่าสุด เป็นการศึกษาโดยคณะแพทย์จากประเทศแคนาดา นำโดย นพ. Kollmannsberger., C. โดยเป็นการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะระยะ1 ย้อนหลัง 2,483 ราย ช่วงปี ค.ศ. 1998-2010 (ผู้ป่วยจากหลายโรงพยาบาลรวมกัน) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดไม่ใช้เซมิโนมา 1,139 ราย และชนิด เซมิโนมา 1,344 ราย ผู้ป่วยทุกราย ได้รับการผ่าตัดวิธีการเดียว ร่วมกับการตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ บ่อยทุก 1-3 เดือนในปีแรก, ทุก 4 เดือนในปีที่ 2, ทุก 6 เดือนในปีที่ 3, ต่อจากนั้นทุก 1 ปี ไปอีก 10ปี การติดตามโรคจะโดยการสอบถามประวัติอาการต่างๆ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง(มะเร็งอัณฑะ สร้างสารมะเร็งได้) เอกซเรย์ปอด และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง อาจร่วมกับที่ปอดด้วย การศึกษานี้รายงานในวารสารการแพทย์ JCO (Journal of Clinical Oncology) และตีพิมพ์ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ทเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มะเร็งอัณฑะ ชนิดไม่ใช่เซมิโนมา ถ้าจะย้อนกลับเป็นซ้ำ มักเกิดภายใน 2 ปีหลังผ่าตัด ส่วนชนิดเซมิโนมา มักเกิดย้อนกลับเป็นซ้ำ(ถ้าจะเกิด)ภายใน 3 ปี ทั้ง 2 ชนิดพบเกิดเป็นซ้ำหลัง 5 ปีได้ แต่พบได้น้อยมาก

การศึกษานี้ พบว่า อัตราการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคชนิดไม่ใช่เซมิโนมา คือ 19% และ ชนิดเซมิโนมา คือ 13% สูงกว่า ในการศึกษาอื่นที่ให้การรักษาด้วยรังสีรักษา หรือยาเคมีบำบัดร่วมด้วยกับการผ่าตัด (โอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำประมาณ 5 %) แต่ดังกล่าวแล้วว่า มะเร็งอัณฑะตอบสนองได้ดีมากต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา จึงส่งผลให้การรักษาเมื่อโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้ผลดี โรคหายได้ ส่งผลให้อัตรารอดที่ 5 ปีของการรักษามะเร็งอัณฑะระยะที่ 1 ที่รักษาทั้ง 3 วิธี ไม่แตกต่างกัน คือ ประมาณ 95% ทั้ง 3 วิธี ได้แก่ ผ่าตัด+รังสีรักษา(รักษาเฉพาะ ชนิด เซมิโนมา), ผ่าตัด+ยาเคมีบำบัด, และ ผ่าตัด ร่วมกับการเฝ้าติดตามโรค

ผู้ศึกษา สรุปว่า การเฝ้าติดตามโรคหลังการผ่าตัด เป็นวิธีการที่ลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด และได้อัตราอยู่รอดเท่ากับวิธีอื่น แต่แพทย์โรคมะเร็งควรร่วมมือกันเพื่อศึกษาหาวิธีในการตรวจ Active survilance ที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อใช้เป็นมาตรฐานทางการรักษาต่อไป

ในความเห็นของผู้เขียน การรักษาโดย การเฝ้าติดตามโรค ควรเลือกใช้เฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งอัณฑะ ที่สามารถมารับการตรวจเฝ้าติดตามโรคจากแพทย์ได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ตรงตามตารางการนัดหมายของแพทย์ติดต่อกันอย่างน้อยตลอด 5 ปี ทั้งนี้รวมถึงการตรวจติดตามสม่ำเสมอด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง และ/หรือของปอด ตามตารางการตรวจของแพทย์ และการตรวจที่ใช้เฝ้าติดตามโรคจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพง และในบ้านเรา การตรวจเหล่านั้น อาจไม่รวมอยู่ในการประกันสุขภาพประเภทต่างๆของรัฐ ดังนั้นผู้เลือกวิธีเฝ้าติดตามโรค จึงควรต้องคำนึงถึงความพร้อมทางเศรฐกิจด้วย

แหล่งข้อมูล

  1. http://jco.ascopubs.org/content/early/2014/08/14/JCO.2014.56.2116.abstract [2015, Jan 17].