คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอนที่ 3

ทวนเรื่องเดิมนิดหน่อยนะคะเพื่อให้เรื่องต่อกันได้ คือกำลังเล่าเรื่องของแพทย์ที่ให้การรักษาโรคมะเร็งว่ามีสาขาไหนบ้าง ทั้งนี้แพทย์รักษาตัวโรคมะเร็งมีหลายสาขามาก ได้แก่ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวิทยา อายุแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์รังสีร่วมรักษา วิสัญญีแพทย์ และแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

และได้เล่าไปแล้ว คือศัลยแพทย์ และทันตแพทย์ วันนี้เป็นเรื่องของแพทย์ หูคอจมูกคะ

แพทย์หู คอ จมูก

แพทย์ หู คอ จมูก (ต้องเขียนแยกคำกันคะ ไม่เขียนติดกันว่า หูคอจมูก) คนไทยเรียกหลายชื่อทีเดียว อีกชื่อที่เป็นทางการ คือ แพทย์ โสต ศอ นาสิก โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายว่า โสต มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า หู ศอ บอกแต่ว่า เป็นคำนามแปลว่าคอ โดยราชาศัพท์ คือ พระศอ ส่วนนาสิก แปลว่า จมูก มาจากภาษาสันสกฤตเช่นกัน อีกชื่อของแพทย์หู คอ จมูก นิยมเหมือนกันมักเรียกกันในแวดวงคนในวงการที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ คือ หมอ อีเอ็นที โดย ENT (เขียนตัวติดกัน) เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษของแพทย์สาขานี้คะ คือ Ear Nose Throat doctor หรือ Ear Nose Throat surgeon คือ ศัลยแพทย์ด้านหู คอ จมูก เพราะแพทย์สาขานี้ให้การรักษาทั้งทางยาและทางการผ่าตัดรักษาอวัยวะในระบบ หู คอ จมูก จึงเป็นศัลยแพทย์อีกแขนงหนึ่งคะ

พวกแพทย์ด้วยกันชอบเรียกว่า หมออีเอนที หรือ อีเอนที เฉยๆ ดังนั้นขออนุญาตเรียกว่า อีเอนทีนะคะ พิมพ์ง่ายหน่อย (ลองคำนวณดูจากปีที่ดิฉันจบแพทย์ ก็พอจะเดาได้ว่า ดิฉันอยู่ในรุ่นด้อยเทคโนโลยี ใช้คอมฯได้จำกัด เสียดายค่าคอมฯมากๆ เพราะซื้อมาแล้วใช้ได้เพียงไม่กี่ functions เริ่มบ่นแล้วคะ)

อีเอนที จะดูแลรักษาโรคต่างๆทาง หู คอ จมูก ที่ทางแพทย์เรียกว่า ระบบทางเดินหายใจตอนบน จึงคาบเกี่ยวกับแพทย์โรคปอด ซึ่งคือ แพทย์ที่ดูแลรักษาโรคของปอด ที่เรียกอีกชื่อว่า ระบบทางเดินหายใจตอนล่าง และบางโรงพยาบาล อีเอนทีก็จะดูแลรักษา โรคของท่อลมที่อยู่ในส่วนคอ เพราะเป็นอวัยวะที่จัดเป็นได้ทั้งในส่วนคอ และในส่วนของปอด นอกจากนั้น อีเอนที ยังดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ และโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆของการนอนหลับด้วย (ซึ่งโรคเหล่านนี้ บางโรงพยาบาลก็รักษาโดยแพทย์อายุรกรรมโรคปอด) รักษาผ่าตัดโรคของต่อมไทรอยด์ เพราะต่อมไทรอยด์อยู่ที่คอ แต่บางโรงพยาบาลการผ่าตัดต่อมไทรอยด์จะโดยศัลยแพทย์ทั่วไป

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การคาบเกี่ยวกันของอวัยวะต่างๆจะมีอยู่เสมอ ซึ่งแต่ละโรงพยาบาล แพทย์ผู้ดูแลรักษา อาจแตกต่างสาขากันได้

ในกรณีที่โรคลุกลามมาก ลุกลามเข้าไปในอวัยวะหลายๆอวัยวะ แพทย์ผ่าตัดหลายสาขาก็จะช่วยกันผ่าตัดรักษาคะ เช่น ถ้าโรคมะเร็งไซนัสลุกลามเข้าตา อีเอนทีกับจักษุแพทย์ก็จะให้การผ่าตัดผู้ป่วยร่วมกัน ถ้าโรคมะเร็งหู ลุกลามเข้าสมอง อีเอนทีก็จะร่วมกับประสาทศัลยแพทย์ผ่าตัดรักษาผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้รวมไปถึงอวัยวะต่างๆทุกๆอวัยวะด้วย เช่น มะเร็งรังไข่ ผ่าตัดโดยนรีแพทย์ แต่ถ้าโรคลุกลามเข้าลำไส้ นรีแพทย์ก็จะร่วมผ่าตัดกับศัลยแพทย์ เป็นต้น

แพทย์อีเอนทีแต่ละท่าน ผ่าตัดรักษาโรครวมทั้งโรคมะเร็ง ทั้งของ หู คอ จมูก ไม่แยกเป็นอนุสาขา แต่แพทย์บางท่าน ก็ชอบผ่าโรคของ หู บางท่านก็ชอบผ่าโรคของจมูก เมื่อมีการฝึกอบรมต่อเนื่อง ก็อาจเลือกฝึกอบรมต่อเนื่องในเรื่องที่แพทย์สนใจ เช่น เฉพาะหู หรือเฉพาะกล่องเสียง เป็นต้น

สรุปก็คือ โรคมะเร็งที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจตอนบนหรือตอนต้นก็เรียก (จมูก ไซนัส ทอนซิล โพรงต่างๆที่อยู่ในคอ โพรงหลังจมูก กล่องเสียง คอหอย) และหู เมื่อต้องผ่าตัดรักษา จะให้การรักษาโดย อีเอนที แต่ถ้าต้องให้การรักษาต่อเนื่องด้วย รังสีรักษา อีเอนทีก็จะส่งต่อผู้ป่วยมะเร็งไปยังแพทย์รังสีรักษา ถ้าจะให้ยาเคมีบำบัด อีเอนทีก็มักส่งต่อผู้ป่วยไปให้แพทย์อายุรกรรมมะเร็งวิทยา คะ

และเช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งของแพทย์ทุกสาขา ภายหลังจบการรักษาโรคมะเร็ง อีเอนที ก็ยังจะนัดดูแลผู้ป่วยเป็นระยะๆตลอดไป ความถี่ในการนัด ขึ้นกับปัญหาทางอีเอนทีของผู้ป่วยแต่ละราย และตามดุลพินิจของแพทย์ อีเอนทีแต่ละท่านคะ

จบเรื่อง อีเอนที คราวหน้าจะเล่าเรื่อง จักษุแพทย์ที่รักษาโรคมะเร็งคะ