คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอนที่ 12

เรายังคงเล่าเรื่องของแพทย์ที่ให้การรักษาตัวโรคมะเร็งว่ามีสาขาไหนบ้าง ซึ่งดังกล่าวแล้วว่า แพทย์รักษาโรคมะเร็งมีหลายสาขามาก ได้แก่ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวิทยา อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์รังสีร่วมรักษา วิสัญญีแพทย์ และแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

ที่ได้เล่าไปแล้ว คือ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์ หู คอ จมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวทยา อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์รังสีร่วมรักษา และวิสัญญีแพทย์

วันนี้ เป็นแพทย์กลุ่มสุดท้ายที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง คือ แพทย์ด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแพทย์

รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแพทย์ (Radiation oncologist) เป็นแพทย์เฉพาะทางที่ให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้รังสีประเภทไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) ซึ่งเป็นรังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค เป็นแพทย์ที่ภายหลังจบเป็นแพทย์ทั่วไปแล้ว จะเข้าฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา อีก 3 ปี

ในสมัยก่อนแพทย์สาขานี้ จะเรียกว่า แพทย์รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Radiotherapy and Nuclear medicine) ซึ่งจะดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ต่อมา 2 สาขาวิชานี้ก็แยกจากกัน เป็นสาขารังสีรักษา (Radiotherapy หรือ Radiation therapy) และสาขา เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) และหลายปีต่อมาสาขาวิชานี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับที่ใช้กันในประเทศตะวันตก คือเปลี่ยนเป็น สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Radiation oncology หรือ Therapeutic radiation and oncology) และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน ต่อไปขอเรียกแพทย์สาขานี้สั้นๆนะคะว่า “แพทย์รังสีรักษา หรือสาขารังสีรักษา”

แพทย์รังสีรักษา จะให้การดูแลรักษาโรคในผู้ป่วยทุกเพศและทุกวัย ตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยประมาณ 5% จะเป็นผู้ป่วยที่ ไม่ใช่โรคมะเร็ง เช่น โรคเนื้องอกต่างๆ โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นต้น ส่วนอีกประมาณ 95% จะเป็นการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด

แพทย์รังสีรักษาจะให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการใช้ รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน ยารักษาตรงเป้า และยาต่างๆ แต่ในบางโรงพยาบาล แพทย์รังสีรักษา อาจไม่ให้ยาเคมีบำบัด แต่ให้ผู้ป่วยที่จะได้รับยาเคมีบำบัดอยู่ในการดูแลของ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวิทยา หรือ นรีแพทย์มะเร็งวิทยา ขึ้นกับว่า เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งระบบใด

การให้รังสีรักษาจะให้การรักษาทั้งการฉายรังสี/ฉายแสง (เป็นการรักษาส่วนใหญ่) และ/หรือ การใส่แร่ (เป็นผู้ป่วยส่วนน้อย) ถ้าคุณสนใจว่า รังสีรักษา คืออะไร แนะนำอ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง รังสีรักษา ในเว็บ haamor.comคะ

แพทย์รังสีรักษา เป็นแพทย์ที่ขาดแคลนมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบจำนวนแพทย์กับจำนวนประชากร (มีรายงานในปี พ.ศ. 2554 มีแพทย์ที่ยังทำงานในสาขานี้ทั้งประเทศประมาณ 110 คน) ทั้งนี้เพราะเป็นสาขาที่แพทย์ไม่นิยมเรียนที่สุด เนื่องจาก ลักษณะการทำงานจะต้องขึ้นกับหลายปัจจัย คือต้องมีเครื่องฉายแสง เครื่องใส่แร่ ที่มีราคาแพงมาก จึงมีแผนกนี้จำกัดเฉพาะเพียงไม่กี่โรงพยาบาล ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของแพทย์เมื่อต้องมีภาระทางครอบครัวในเรื่องของสถานที่ทำงานกับบ้าน และในการฝึกอบรม ยังต้องเรียนเพิ่มเติมในสาขาอีก 2 สาขา คือ ฟิสิกส์การแพทย์ (Medical physics) และชีวรังสี (Radiobiology) เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญในการนำรังสีมาใช้รักษาโรค ซึ่งทั้ง 2 สาขาวิชาหลัง โดยทั่วไปก็ไม่ค่อยมีใครอยากเรียนอยู่แล้ว

นอกจากนั้น งานยังต้องประกอบด้วยบุคคลากรสำคัญอีก2 สาขา คือ นักฟิสิกส์การแพทย์ (จบปริญญาโท) และนักรังสีเทคนิค/รังสีการแพทย์ (Radiotherapy technologist, จบปริญญาตรี) ซึ่งทั้ง2 สาขาไม่เป็นที่นิยมเรียนเช่นกัน เพราะงานหนักกว่า และความก้าวหน้าในชีวิตน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับงานด้านการแพทย์ในสาขาอื่นๆ และบุคลากรทั้ง 3 สาขานี้ยังต้องเสี่ยงกับอันตรายจากรังสีอีกด้วย

โรงพยาบาลที่จะมีแพทย์รังสีรักษา จึงจำกัดเพียงไม่กี่โรงพยาบาล และมักกระจุกตัวอยู่ใน กรุงเทพ โรงพยาบาลที่จะมีแผนกนี้คือ ศูนย์มะเร็งของกระทรวงสาธารณสุขที่กระจายอยู่ในภาคต่างๆ ภาคละศูนย์ โรงพยาบาลที่มีการสอนนักศึกษาแพทย์และฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง

แพทย์รังสีรักษาจะให้การรักษาในระบบนัดล่วงหน้า และรับปรึกษาจากแพทย์อื่นๆทุกสาขา แต่ไม่ออกตรวจรับผู้ป่วยนอกโดยตรง

ขอจบเรื่องของแพทย์แต่ละสาขาที่ให้การดูแลรักษาโรคมะเร็งคะ ครั้งหน้า จะเล่าว่า เมื่อมีแพทย์หลากหลายสาขา แพทย์รักษามะเร็งจะทำงานกันอย่างไร?