คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอนที่ 1

สวัสดีคะทุกๆท่าน

ก่อนอื่นขอแนะนำตัวก่อน คือ ชื่อ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ ทำงานเป็นแพทย์รักษาโรคมะเร็งโดยใช้รังสีรักษาตั้งแต่ ปี พศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน

การเปิด blog นี้ มีวัตถุประสงค์ที่อยากคุย อยากเล่าไปเรื่อยๆกับผู้ที่สนใจ หรืออยากรู้เรื่องของโรคมะเร็ง โดยไม่ต้องมีรูปแบบของการเขียน อยากเขียนเรื่องอะไร แง่มุมไหนก็เขียน ไม่จำเป็นต้องมีแบบแผน บางเรื่องซึ่งคงเป็นส่วนใหญ่ก็คงมาจากประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย บางเรื่องก็อาจเป็นข่าวทางด้านโรคมะเร็ง วันไหนว่างก็เขียน วันไหนไม่ว่างก็ไม่เขียน

เรื่องที่อยากเล่าให้ฟังในวันนี้คือ “นิยามคำว่า หมอโรคมะเร็งคะ”

หมอโรคมะเร็ง ในที่นี้หมายถึงแพทย์แผนปัจจุบันที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งมีทั้งแพทย์ทั่วไป และแพทย์เฉพาะทาง ทั้งนี้เพราะการรักษาโรคมะเร็งในทุกระยะของโรค จะประกอบด้วย 2 วิธีการหลัก คือ การรักษาตัวโรคมะเร็งเอง และการรักษาประคับประคองผู้ป่วยตามอาการ

การรักษาตัวโรคมะเร็งเอง (Cancer treatment) คือ การกำจัด/ฆ่าเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย หรือถ้ากำจัดไม่ได้ ก็ควบคุมไม่ให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโต หรือให้เจริญเติบโตช้าลง เป้าหมายก็คือ เพื่อรักษาให้หายขาด ถ้ารักษาให้หายขาดไม่ได้ ก็เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ได้นานขึ้น หรือช่วยบรรเทาความทรมานที่เกิดจากตัวเซลล์มะเร็ง เช่น การฉายรังสีรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดจากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก เป็นต้น ทั้งนี้ การรักษาตัวโรคมะเร็งเอง เป็นการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นแพทย์ที่ทำงานอยู่เฉพาะในบางโรงพยาบาล มักต้องเป็นโรงพยาบาลระดับที่มีการเรียน การสอน การฝึกอบรม นักศึกแพทย์ แพทย์ พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องเป็นโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็งนี้ จะให้การตรวจรักษาดูแลผู้ป่วยในระบบนัดล่วงหน้า หรือระบบรับปรึกษาจากแพทย์ทั่วไปและจากแพทย์สาขาต่างๆ ผู้ป่วยจึงไม่สามาถไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจกับแพทย์เฉพาะทางได้เองในทุกวันเหมือนกับการตรวจผู้ป่วยในระบบตรวจผู้ป่วยนอกทั่วไป

การรักษาประคับประคอง (Supportive and Symptomatic treatment) หมายถึง การรรักษาตัวผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการต่างๆของผู้ป่วย ทั้งอาการที่เกิดขึ้นจากโรคมะเร็ง อาการจากภาวะร่างกายอ่อนเพลีย และอาการที่เกิดจากผลข้างเคียงของการรักษาตัวโรคมะเร็ง (เช่นจาก รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด) เช่น ปวด/เจ็บตรงตำแหน่งที่รักษา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ มีไข้ ช่วยให้กินอาหารได้ ช่วยให้นอนอหลับ ช่วยรักษาภาวะซีด เป็นต้น เป้าหมายก็คือ เพื่อคงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยวัตถุประสงค์นี้ ส่วนใหญ่จะให้การดูแลรักษาโดยแพทย์ทั่วไป โดยมีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคมะเร็งเป็นแพทย์ที่ปรึกษา

โดยทั่วไป ผู้ป่วยทุกคน เมื่อมาโรงพยาบาล จะต้องพบแพทย์ทั่วไปก่อน เพื่อให้การวิจฉัยโรคและดูแลรักษาผู้ป่วยในเบื้องต้น ต่อจากนั้น แพทย์ทั่วไปจะเป็นผู้ส่งต่อผู้ป่วยพบแพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ทั่วไป ยังจะคอยดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกับแพทย์เฉพาะทางตลอดไป เพื่อดูแลด้านคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง

ขอจบวันนี้ก่อน ครั้งต่อไปจะเล่าต่อ เรื่องว่าแพทย์โรคมะเร็งมีกี่สาขาคะ