คิดไม่ตก วิตกจริต (ตอนที่ 1)

คิดไม่ตกวิตกจริต-1

      

      นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชของประชาชนไทย นอกจากโรคทางจิตแล้วยังมีในกลุ่มของโรควิตกกังวล (Anxiety disorders) ซึ่งผู้ป่วยจะมีจิตใจแปรปรวนอ่อนไหวง่าย ที่พบได้บ่อยคือโรควิตกกังวลทั่วไป (General anxiety disorder)

      ซึ่งในคนปกติทั่วไปอาจเกิดความวิตกกังวลได้ เช่น กังวลเรื่องลูกไปโรงเรียน เรื่องการเข้าทำงานใหม่ แต่ว่าจะเป็นไม่นาน อาการจะหายไปเอง แต่ในผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน

      อาการเด่นที่สำคัญคือ คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวลเกินกว่าเหตุในหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มีอาการใจลอย ตกใจง่าย ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้คิดได้

      และจะมีอาการทางกายปรากกฎร่วมด้วยอย่างน้อย 3 อย่าง เช่น กระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตึงกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง ใจเต้นเร็วและแรง หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

      ซึ่งจากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคนี้ร้อยละ 0.3 และคาดว่าทั่วประเทศจะมีประมาณ 140,000 คน

      อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไปเกิดมาจากความผิดปกติทางจิตใจหรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เป็นโรคที่ประชาชนไทยมักเข้าใจผิดกันบ่อย คิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ หรือคิดว่าเกิดมาจากตัวเองคิดมากไปเอง ไม่ได้เจ็บป่วย จึงไม่ไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อรักษาแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งโรคนี้มียารักษา และต้องใช้วิธีการบำบัดทางจิตสังคมร่วมด้วย เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมควบคู่กัน

      ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินเองเพื่อแก้ไขอาการที่ตัวเองเป็น เช่น นอนไม่หลับ ความกังวล ปวดศีรษะ เป็นต้น ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่า นอกจากจะไม่ได้ผลหรือได้ผลเพียงชั่วขณะ ยังอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ จึงขอให้ผู้ที่มีปัญหาและอาการที่กล่าวมา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรืออาจโทรขอรับคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

      ด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า โรควิตกกังวลทั่วไป หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคทางใจและทางกายตามมาอีกหลายโรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ มีแนวโน้มสูงในการใช้สารเสพติด เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางกาย เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน

      นายแพทย์กิตต์กวี ยังกล่าวว่า มีรายงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า โรควิตกกังวลเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อโรคได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายต่ำ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. กังวล คิดฟุ้งซ่าน กลัวเกินเหตุ' ให้พบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง. http://www.thaihealth.or.th/Content/44775-กังวล คิดฟุ้งซ่าน กลัวเกินเหตุ' ให้พบแพทย์ อย่าซื้อยากินเอง.html [2018, October 6].