คาโมมายล์ (Chamomile) คามิลโลซาน (Kamillosan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคาโมมายด์ (Chamomile) เป็นสารสกัดที่ได้จากพืชที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Martri caria chamomilla ถูกนำมาผลิตเชิงการค้าในรูปแบบ อาหารเสริม ชาชงสมุนไพร และยารักษาโรค แผนปัจจุบัน ซึ่งแต่ละสูตรตำรับยาอาจมีการผสมสารสกัดอื่นร่วม เช่น น้ำมันหอมระเหยจากต้นสะระ แหน่, ผักชี, มะกรูด, ยูคาลิปตัส, น้ำมันระกำ, Pine Needle Oil, Sage Oil หรือมีส่วนผสมของยาชา เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) เป็นต้น

ฤทธิ์ทางยาของคาโมมายล์ในรูปแบบของยาแผนปัจจุบัน มักจะพบเห็นเป็นยาภายนอกใช้พ่นคอ หรือป้ายแผลในปาก ที่รู้จักกันในชื่อยาการค้า คือ ‘ยาคามิลโลซาน (Kamillosan)’ เพื่อลดอาการอักเสบของช่องปากอันมีสาเหตุจาก แผลในปาก เหงือกอักเสบ แผลอักเสบจากการถอนฟัน ช่วยดับกลิ่นปาก หากนำมาใช้ในรูปแบบของสมุนไพร จะใช้ในรูปแบบ เช่น ชาชงสมุนไพรที่ดื่มเพื่อบรรเทาอาการปวดเกร็งและการอักเสบของกระเพาะอาหาร – ลำไส้ ทั้งนี้ต้องดูสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของแต่ละสูตรตำรับยาที่ได้ขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเฉพาะในบทความนี้ จะขอกล่าวถึง ‘คาโมมายล์’ ในรูปแบบของยาแผนปัจจุบัน ที่ใช้รักษาอาการอักเสบในช่องปากและคอเท่านั้น

ยาคาโมมายล์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คาโมมายล์

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาคาโมมายล์ เช่น

  • ยาคาโมมายล์ถูกนำมาใช้เป็นยาลดการอักเสบในช่องปาก เช่น การมีแผลในปาก เหงือกอักเสบ แผลร้อนใน หรือลดการอักเสบที่เกิดจากการถอนฟัน
  • ป้องกันและบรรเทาอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบอันมีผลจากการฉายรังสีรักษา หรือการใช้

การบำบัดด้วยยาในกลุ่ม Chemotherapy (ยาเคมีบำบัด) เพื่อรักษามะเร็ง

ยาคาโมมายล์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

จากบทความในวารสารทางการแพทย์ Nature Medicines Comprehensive Database ได้กล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร/ยาคาโมมายล์ โดยจะไปยับ ยั้งเอนไซม์ไซโคออกซิจีเนส (Cyclooxygenase) และ เอนไซม์ไลปอกซิจีเนส (Lipoxygenase) ในระดับเซลล์ มีผลให้ลดการผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin, สารที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บปวดและการอักเสบ) อีกทั้งยังยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ต้านการอักเสบได้

ยาคาโมมายล์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เราสามารถพบเห็นการใช้สาร/ยาคาโมมายล์เป็นส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน เพื่อรักษาอาการอักเสบในช่องปากและลำคอ เช่น

  • ยาน้ำชนิดสเปรย์พ่นในช่องปาก ขนาดความแรง 375 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเจลป้ายปากที่มีส่วนผสมของยาชาขนาดบรรจุ 10 กรัม

ยาคาโมมายล์มีวิธีการใช้อย่างไร?

วิธีการใช้ยาคาโมมายล์ เช่น

  • ชนิดสเปรย์ ใช้พ่นเข้าปาก/ลำคอ วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
  • ชนิดเจลที่มีส่วนผสมของยาชา ให้บีบยาเป็นทางยาวประมาณครึ่งเซนติเมตร ป้ายบริเวณที่เป็นแผลอักเสบในปาก วันละ 3 ครั้ง

อนึ่ง รูปแบบและลักษณะการใช้ยาคาโมมายล์ของแต่ละสูตรตำรับยา จะมีข้อแตกต่างกันออกไป เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค จึงควรขอคำแนะนำก่อนการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกร หรือใช้ข้อมูลในเอกสารกำกับยาที่ระบุถึงวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้องมาประ กอบทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคาโมมายล์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาต่างๆโดยเฉพาะ ยาพ่นคอ ยาป้ายปาก ชนิดใดหรือไม่

ยาคาโมมายล์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคาโมมายล์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ได้ หากนำไปใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารคาโมมายล์ เช่น มีอาการระคายเคืองในบริเวณที่ใช้ยา

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาโมมายล์อย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาคาโมมายล์ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา คาโมมายล์
  • ในรูปแบบยาสเปรย์พ่นคอ ต้องระวังมิให้ยาเข้าตาด้วยอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตาได้
  • ระวังการใช้ยาคาโมมายล์กับผู้ป่วย มะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งที่รังไข่ ด้วยมีการทำการวิจัยกับผู้ป่วยบางราย เกิดผลกระทบที่เรียกว่า Estrogenic effect (ผลที่คล้ายผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจน) ที่อาจส่งผลต่อการลุกลามของโรคมะเร็งเหล่านี้ได้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

* อนึ่ง:

  • ยังไม่มีรายงานอันตรายจากการใช้ยาคาโมมายล์ในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร แต่การใช้ยาในบุคคล 2 กลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และใช้แต่เฉพาะในกรณีจำเป็นเท่านั้น
  • การใช้ยาคาโมมายล์ในเด็กเล็ก ควรเป็นการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาคาโมมายล์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคาโมมายล์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคาโมมายล์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • สำหรับการใช้คาโมมายล์ในรูปแบบยาพ่นหรือยาเฉพาะที่ ไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยารับประทานใดๆ
  • แต่สำหรับการบริโภคคาโมมายล์ร่วมกับการใช้ยารักษาจอประสาทตาเสื่อม เช่นยา Verteporfin ยาคาโมมายล์อาจลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาดังกล่าว

ควรเก็บรักษายาคาโมมายล์อย่างไร ?

ควรเก็บยาคาโมมายล์ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เก็บยาโดยบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงสว่าง/ แสงแดด ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาคาโมมายล์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคาโมมายล์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Kamillosan-M (คามิลโลซาน-เอ็ม) Meda Pharma
Kamistad Gel N (แคมิสตัด เจล เอ็น) Stada

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fKamillosan-M%2fKamillosan-M%2520Spray%3fq%3dchamomile%26type%3dbrief [2020,Aug15]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fKamistad%2520Gel%2520N%2f%3fq%3dchamomile%26type%3dbrief [2020,Aug15]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/chamomile-with-verteporfin-2357-0-2298-0.html[2020,Aug15]
  4. https://www.ebay.ca/sch/sis.html?_nkw=Kamillosan%20M%20Mouthspray%20For%20Inflammatory%20affections%20of%20Buccal%20Pharyngeal%20Cavity&_itemId=221389122560 [2020,Aug15]