คาร์บาริล (Carbaryl)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารคาร์บาริล(Carbaryl หรือ 1-naphthyl methylcarbamate) เป็นสารประกอบเคมีที่มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลง เช่น มอด มด ยุง แมลงสาบ รวมไปถึง เหา ถูกนำมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เมื่อปี ค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) ในช่วงเริ่มต้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่จะเป็นยาฆ่าแมลงที่ใช้กับสวนหย่อมในบ้าน ซึ่งกรณีที่สารชนิดนี้เข้าในร่างกายสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังซึ่งรวมถึงมนุษย์ ด้วยสมบัติทางโครงสร้างเคมี ทำให้ยาคาร์บาริลถูกกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว จากเหตุผลนี้เอง ผลิตภัณฑ์คาร์บาริลจึงถูกยกระดับและพัฒนาเป็นสารเคมีที่ใช้ในแปลงพืชที่นำมาผลิตเป็นอาหาร และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บาริลต่อเนื่องไปจนกระทั่งเป็นแชมพูที่ใช้เป็น”ยาฆ่าเหา” โดยมีความเข้มข้นของยาคาร์บาริลในตัวผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 0.5–1%

ยาคาร์บาริล มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในสิ่งมีชีวิต/แมลง ที่มีชื่อว่า อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase,เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารสื่อประสาท)ส่งผลให้ร่างกายของพวกแมลงเป็นอัมพาตและตายลงในที่สุด

สิ่งที่พึงระวังเมื่อต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร/ยาคาร์บาริลเป็นส่วนประกอบ คือ เลี่ยงการสูดดม ห้ามรับประทาน หรือสัมผัส เข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก การใช้ผลิตภัณฑ์ยา/สารคาร์บาริล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์/เอกสารกำกับยา หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์/เภสัชกร การใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ อย่างผิดวิธี อาจทำให้ร่างกายมนุษย์ได้รับสาร/ยาคาร์บาริลมากเกินกว่าร่างกายจะกำจัดออกได้ทัน จนส่งผลให้เกิดอาการต่างๆดังต่อไปนี้ตามมา เช่น มีน้ำลายออกมามาก รูม่านตาเล็กลง ตาพร่า น้ำตามาก ตัวสั่น หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนแรง ปวดศีรษะ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากจะทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ ตลอดจนทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว กรณีเช่นนี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บาริลที่มีความเข้มข้นต่ำและเหมาะสม เมื่อสัมผัสผิวหนังของร่างกาย อาจจะก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียง)ในปริมาณเพียงต่ำๆ หากสารคาร์บาริลเกิดหลุดรอดเข้าสู่ภายในร่างกาย ตับของมนุษย์จะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายและกำจัดสารนี้ทิ้ง สารคาร์บาริลในกระแสเลือดจะถูกลำเรียงออกจากร่างกายไปกับปัสสาวะ

เคยมีผู้วิจัยการปนเปื้อนของสารคาร์บาริลในสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบ ต่อสิ่งมีชีวิตบางประเภท ดังนี้

  • สาร/ยาคาร์บาริลเป็นพิษต่อสัตว์น้ำประเภทปลา โดยก่อให้เกิดพิษในระดับต่ำไปจนถึงขั้นที่รุนแรง
  • สาร/ยาคาร์บาริลเป็นพิษอย่างมากกับสัตว์น้ำประเภทกุ้งชนิดต่างๆ และกระทบตเจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาการของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่าง ตัวอ่อนของกบหรือ ที่เรียกกันว่าลูกอ๊อด
  • เป็นพิษรุนแรงต่อแมลงต่างๆซึ่งรวมถึงแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อธรรมชาติเช่น ผึ้ง
  • ยา/สารคาร์บาริลไม่เป็นพิษต่อสัตว์ปีก เช่น เป็ด นก ห่าน ไก่

ดังนั้นการใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บาริลไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะของยาฆ่าแมลง ยาแชมพูที่ใช้รักษาการติดเหา ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังทั้งกับตัวผู้บริโภค/ผู้ป่วย และต้องมิให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในบทความนี้ จะขอกล่าวถึงสารคาร์บาริลในแง่มุมของผลิตภัณฑ์ประเภทยาแชมพูที่ใช้รักษาการติดเหาบนหนังศีรษะเท่านั้น

คาร์บาริลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คาร์บาริล

ยาแชมพูคาร์บาริลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อใช้กำจัดเหาบนหนังศีรษะ โดยสามารถฆ่าเหาได้ทั้งขณะที่เป็นตัวเต็มวัย และสภาพที่เป็นไข่

คาร์บาริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแชมพูคาร์บาริลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase inhibitors) สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบการทำงานของสารสื่อประสาทในสัตว์ประเภทแมลงได้อย่างรุนแรง โดยทำให้เกิดอาการอัมพาต ตลอดจนระบบการทำงานของตัวแมลงล้มเหลวและตายลงในที่สุด

คาร์บาริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแชมพูคาร์บาริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • แชมพูสระผมที่มีองค์ประกอบของ Carbaryl 1%

คาร์บาริลมีขนาดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างไร?

แชมพูยาคาร์บาริลมีขนาดการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น

-ผู้ใหญ่:

  • ใช้น้ำอุ่นในการชะล้างศีรษะให้เปียกชุ่ม
  • จากนั้นนำผลิตภัณฑ์แชมพูยาคาร์บาริล สระผมให้ทั่วหนังศีรษะ ขณะสระผม ให้เริ่มนวดจากศีรษะด้านหน้าแล้วไล่ไปจนถึงด้านหลังใบหู
  • ทิ้งแชมพูอยู่บนศีรษะนานเป็นเวลาประมาณ 5 นาทีเป็นอย่างต่ำ แล้วค่อยล้างออกด้วยน้ำเป็นปริมาณมาก จนสะอาดและหมดคราบแชมพู
  • ใช้หวีเสนียด(หวีที่ใช้สางเหา) หวีผมเพื่อกำจัดซากเหาและไข่ออกจากหนังศีรษะ
  • อาจต้องใช้คาร์บาริลแชมพูสระผมในวันที่ 1, 3 และ 8 เพื่อกำจัดเหาให้สิ้นซาก

-เด็ก: การใช้ยาคาร์บาริลแชมพูกับเด็กให้ปฏิบัติโดยใช้เกณฑ์อายุ ตามที่ระบุในเอกสารกำกับตัวผลิตภัณฑ์/เอกสารกำกับยา หรือใช้แชมพูยาฯตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร

*อนึ่ง: ระหว่างการใช้คาร์บาริลแชมพูยา ต้องหลีกเลี่ยงมิให้แชมพูฯเข้า ตา เข้าปาก เข้าจมูก

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้คาร์บาริลแชมพูที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้ยาแชมพูนี้ของแพทย์ได้ การใช้คาร์บาริลแชมพูที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแชมพูคาร์บาริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแชมพูคาร์บาริล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมสระผมควรทำอย่างไร?

ในกรณีลืมสระผมด้วยยาแชมพูคาร์บาริล ให้สระผมด้วยยาแชมพูฯนี้ ทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการสระผมในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องใช้ยาคาร์บาริลแชมพูมากเป็น 2 เท่า ให้ใช้แชมพูฯในปริมาณปกติ

คาร์บาริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแชมพูคาร์บาริลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการ-ข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน พูดจาไม่ชัด ปวดศีรษะ เกิดอาการชัก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาเล็กลงส่งผลให้ตาพร่า
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้อกระตุก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่หน้าท้อง ท้องเสีย มีน้ำลายไหลยืด/น้ำลายมาก

มีข้อควรระวังการใช้คาร์บาริลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แชมพูยาคาร์บาริล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา/แพ้สารคาร์บาริล
  • ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์ยาแชมพูคาร์บาริล เข้าตา เข้าปาก และเข้าจมูก
  • ห้ามใช้คาร์บาริลแชมพูเป็นเวลานานเกินมาตรฐานของการใช้ผลิตภัณฑ์ ตามแพทย์ เภสัชกร และตามเอกสารกำกับยา แนะนำ
  • ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์คาร์บาริลแชมพูลงใน แม่น้ำ คู คลอง โดยตรง ด้วยจะก่อให้ เกิดพิษต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติ
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บาริลแชมพูด้วยตนเอง
  • หยุดการใช้คาร์บาริลแชมพูทันที หากพบอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และหากพบอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามใช้ยาแชมพูนี้ที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาแชมพูนี้ที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมคาร์บาริลแชมพูยาด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คาร์บาริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยคาร์บาริลแชมพูยา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกร่างกาย จึงยังไม่มีรายงาน พบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาคาร์บาริลอย่างไร?

ควรเก็บตัวผลิตภัณฑ์ยาแชมพูคาร์บาริลตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ผลิตภัณฑ์ เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในรถยนต์

คาร์บาริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ผลิตภัณฑ์ยาแชมพูคาร์บาริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Carylderm shampoo (คาริลเดอร์ม แชมพู)Mundipharma Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

  1. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S1198743X14614440[2017,April22]
  2. http://natseed.com/pdf/Sevin%20Insecticide%20-%20Label.pdf[2017,April22]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Carbaryl#Applications[2017,April22]
  4. http://npic.orst.edu/factsheets/carbgen.pdf[2017,April22]
  5. http://npic.orst.edu/factsheets/carbarylgen.html[2017,April22]
  6. http://mundipharma.inca.at/ressourcen/download/CARYLDERM_Shampoo_BPZ.pdf[2017,April22]