คาร์นิทีน (Carnitine)

บทความที่เกี่ยวข้อง
คาร์นิทีน

คาร์นิทีน(Carnitine) เป็นสารจากกรดอะมิโน พบได้ในเซลล์เกือบทุกชนิดของร่างกาย เป็นสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย ร่างกายสร้างคาร์นิทีนในตับ และในไต และมักสะสมสารนี้ไว้ใน กล้ามเนื้อลาย หัวใจ สมอง และในตัวอสุจิ

อาหารที่มีคาร์นิทีนสูง เช่น เนื้อแดง เนื้อไก่ นม เนย ธัญญพืชที่ไม่ได้ขัดสี ทั้งนี้ร่างกายขาดคาร์นิทีนได้จาก 2 กรณีคือ จากพันธุกรรมผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดที่ทำให้ร่างกายสร้างสารนี้ไม่ได้ มักพบอาการเริ่มเมื่อเด็กอายุประมาณ 5ปี โดยเด็กจะแสดงอาการจากกล้ามเนื้อลีบทั้งตัว โดยเรียกการขาดสารคาร์นิทีนจากสาเหตุนี้ว่า “ภาวะขาดคาร์นิทีนปฐมภูมิ(Primary carnitine deficiency” ส่วนกรณีที่ 2 คือร่างกายขาดคารร์นิทีนจากโรคต่างๆที่กำจัดสารนี้ออกจากร่างกายมากขึ้น เช่น โรคไตเรื้อรัง หรือร่างกายดูดซึมคาร์นิทีนจากอาหารได้น้อยลง เช่น โรคเรื้อรังของระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือจากผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะบางตัวที่ทำให้ร่างกายขับคาร์นิทีนออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น เช่น ยา Pivampicillin ซึ่งเรียกภาวะขาดคาร์นิทีนสาเหตุต่างๆที่ไม่ใช่จากพันธุกรรมเหล่านี้ว่า”ภาวะขาดคาร์นิทีนทุติยภูมิ(Secondary carnitine deficiency)”

คาร์นิทีน จัดอยู่ในสารเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย มีการศึกษาทำให้เชื่อว่าทุกระบบอวัยวะต้องการสารคาร์นิทีน จึงมีการนำสารนี้มาผลิตเป็น อาหารเสริม และ ผลิตภัณฑเสริมอาหาร เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย และเพื่อการบำรุงสมองในกรณีของสมองเสื่อม

โดยทั่วไป ถ้าร่างกายขาดสารคาร์นิทีน ร่างกายอาจ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง จากการทำงานของอวัยวะระบบต่างๆอาจต่ำลง เช่น หัวใจ สมอง ระบบสืบพันธ์ ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เป็นต้น

ถ้าบริโภคคาร์นิทีนมากเกินไป ผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องแบบปวดบิด ท้องเสีย มีกลิ่นตัวคล้ายกลิ่นปลาสด กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะในคนที่ไตทำงานผิดปกติ และอาจมีอาการชักโดยเฉพาะเมื่อเคยมีประวัติชักมาก่อน

คาร์นิทีน อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้ เมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่นยา Pivampicillin ที่จะส่งให้ระดับคาร์นิทีนในเลือดลดลงดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น

อนึ่ง คาร์นิทีน มาจากภาษาลาติน แปลว่า เนื้อสด(Flesh) เพราะครั้งแรกพบสารนี้ในเนื้อสัตว์สด และปัจจุบัน พบสารคาร์นิทีน มี 2 ชนิด คือ L carnitine (Levorotatory carnitine หรือบางคนเรียก Levocarnitine) ที่เป็นชนิดที่ออกฤทธิ์ และ D carnitine หรือ Dextrorotatory carnitine หรือบางคนเรียก Dextro carnitine)ที่เป็นชนิด ไม่ออกฤทธิ์ ดังนั้น สารคาร์นิทีนที่ร่างกายสามารถนำมาใช้ หรือที่มีการนำมาผลิตเป็นยา หรือเป็นอาหารเสริม หรือ เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือ L carnitine

อนึ่ง คาร์นิทีนมีการผลิตจำหน่ายในหลายตำหรับที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ห้ามนำมาใช้ทดแทนกัน หรือใช้ร่วมกัน เพราะยังไม่มีการศึกษาทางคลินิกที่ยืนยันถึง ความปลอดภัยในการใช้แต่ละตำหรับร่วมกัน หรือความเหมือน หรือความต่างกัน เช่น

  • ตำหรับ Acetyl L carnitine (ย่อว่า ALC หรือ ALCAR) ซึ่งเป็นตำหรับที่สามารถเข้าสู่เซลล์สมองได้ จึงได้มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อม
  • ตำหรับที่บางผู้ผลิตต้องการให้สารนี้มีความเสถียรในรูปแบบที่ เป็นแคปซูล หรือ เป็นเม็ด จึงผลิตในสูตรตำหรับ L-carnitine tartrate และ L-carnitine fumarate
  • ตำหรับ GPLC (Glycine propionil L carnitine) ที่นอกจากจะช่วยในการใช้พลังงานของเซลล์โดยเฉพาะในเซลล์กล้ามเนื้อแล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสสระร่วมด้วย ซึ่งได้มีการนำมาใช้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะในนักกีฬา
  • ตำหรับ Acetyl-L-carnitine arginate dihydrochloride ชื่อการค้าว่า Arginocarn เป็นตำหรับที่ตัวยา/ตัวสารสามารถเข้าสู่เซลล์สมองและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้ จึงมีผู้นำมาใช้เป็นยา/สารเพิ่มสมรรภภาพของสมองและของหัวใจ
  • ตำหรับ Propionyl-L-carnitine ย่อว่าPLC หรืออีกชื่อคือ Propionylcarnitine ที่มีการศึกษาพบว่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพการไหลเวียนโลหิตได้ จึงมีการนำมาใช้ในการบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการที่เชื่อว่าเกิดจากมีการไหลเวียนโลหิตไม่ดี เช่น อาการปวดขาเหตุจากขาขาดเลือด(Intermittent claudication) โรคหลอดเลือดอักเสบสาเหตุจากโรคเบาหวาน กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง(Chronic fatigue syndrome) และรวมถึงโรคนกเขาไม่ขัน

บรรณานุกรม

  1. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Carnitine-HealthProfessional/ [2018,Jan6]
  2. http://www.umm.edu/health/medical/altmed/supplement/carnitine-lcarnitine [2018,Jan6]
  3. https://www.livestrong.com/article/407833-carnitine-vs-l-carnitine/ [2018,Jan6]
  4. https://www.rxlist.com/propionyl-l-carnitine/supplements.html [2018,Jan6]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Glycine_propionyl-L-carnitine [2018,Jan6]
  6. http://nutritionalengineering.org/acetyl-l-carnitine-vitamin.html [2018,Jan6]
  7. http://www.arginocarn.com/ [2018,Jan6]