ความเข้าใจผิดพบบ่อยในการตรวจสุขภาพ (Common misunderstood from medical checkup)

สารบัญ

บทนำ

การตรวจสุขภาพ โดยทั่วไปหมายถึง การตรวจสุขภาพประจำปี (Medical checkup) เป็นเรื่องที่สำคัญและควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เราทราบว่ามีความผิดปกติหรือโรคอะไรบ้าง และยิ่งเราพบความผิดปกติ/โรคตั้งแต่แรก ก็จะสามารถรักษาให้หายได้ดีกว่าพบเมื่ออาการรุน แรง แต่ก็มีความเข้าใจผิดที่พบบ่อยในการตรวจสุขภาพ จนบางครั้งก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างแรง ส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้ตรวจ หรือเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น

ตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะไม่ได้เจ็บป่วย

ความเข้าใจผิดพบบ่อยในการตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่จำเป็น การตรวจสุขภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินสภาวะสุข ภาพของผู้รับการตรวจว่ามีความแข็งแรงดี หรือมีความผิดปกติใดบ้าง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา โรคประจำตัว การตรวจร่างกายโดยแพทย์ และการตรวจเลือดเพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจมี แต่ไม่ปรากฏอาการ นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้วัคซีนเพื่อป้อง กันโรค และการแนะนำการดูแลสุขภาพ มิใช่หมายถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ดังนั้นการตรวจสุขภาพต้องตรวจโดยแพทย์เสมอ และถ้าจะให้ดีควรพบแพทย์ก่อนการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ส่งการตรวจที่เหมาะสม มิใช่การตรวจเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้ผู้รับบริการเลือกตรวจตามความต้องการ โดยไม่ต้องพบแพทย์ก่อนและหลังการตรวจ เพราะจะมีการตรวจที่ไม่เหมาะสมได้ และจะไม่มีผู้ให้การแปรผลและให้คำอธิบาย รวมทั้งการแนะนำในเรื่องของผลที่ได้จากการตรวจนั้นๆ

ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด และเอกซเรย์ปอดก็พอ ไม่ต้องตรวจปัสสาวะ

การตรวจสุขภาพประจำปี ควรต้องตรวจอะไรนั้นขึ้นกับ กลุ่มอายุ (เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ) เพศ (เพราะบางโรคต่างกันในผู้หญิงและในผู้ชาย เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่เป็นการตรวจเฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น) และประวัติทางการแพทย์อื่นๆ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัวที่อาจเพิ่มโอกาสการเจ็บป่วยในสมาชิกครอบครัวได้ (เช่น ประวัติโรคหัวใจ และ/หรือ โรคมะเร็ง เป็นต้น)

ตรวจสุขภาพควรตรวจเฉพาะในคนวัยกลางคนขึ้นไป เด็กและหนุ่มสาวไม่ต้องตรวจ

การตรวจสุขภาพสำหรับบุคคลปกติ แข็งแรงดีควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี ส่วนในเด็กนั้นถ้ามีความผิดปกติ เช่น อ้วนมากหรือมีความผิดปกติตั้งแต่เกิด ก็ต้องตรวจร่างกายและพบแพทย์โดยสม่ำเสมอตามแพทย์นัด

ตรวจสุขภาพช่วยป้องกันโรคต่างๆได้

การตรวจสุขภาพประจำปี ไม่สามารถป้องกันโรคได้ แต่สามารถทราบว่าเรามีโรคหรือภา วะผิดปกติต่างๆได้แต่เนิ่นๆ หรือพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค กล่าวคือ ระยะก่อนเกิดอาการ ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้ตั้งแต่ระยะต้น ซึ่งจะทำให้มีผลการรักษาที่ดี

อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพอาจทำให้ผู้รับการตรวจ มีความตะหนักในการดูแลสุข ภาพที่ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับการตรวจสุขภาพเลย จึงอาจเป็นการช่วยป้องกัน/ลดโอกาสเกิดโรคบางโรคที่สามารถลดโอกาสเกิดได้จากการดูแลสุขภาพตนเอง เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น

เลือดที่ถูกเจาะออกมา ถ้าเป็นสีดำ แสดงว่าเป็นเลือดไม่ดี ต้องมีโรคแน่ๆ

ที่กล่าวมานั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เนื่องจากเลือดที่เจาะออกมาตรวจนั้น เป็นเลือดที่เจาะออกมาจากหลอดเลือดดำ ดังนั้น จึงมีสีแดงคล้ำ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมีความผิดปกติแต่อย่างใด

ขณะเจาะเลือด เลือดไหลไม่ดี บ่งบอกว่าเป็นโรคเลือดหนืด

ภาวะเลือดหนืด (Hyperviscosity, ภาวะที่เลือดมีความข้นและ/หรือเหนียวผิดปกติ (เช่น จากมีเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ หรือมีสารภูมิต้านทานในเลือดสูงกว่าปกติ) ไม่สามารถวิ นิจฉัยจากการเจาะเลือดที่ไหลออกช้าๆ แต่วินิจฉัยจากการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดวิธีเฉพาะทางด้านโรคเลือด

เหตุที่เจาะเลือด แล้วเลือดไหลออกช้า ไม่ว่า จากที่ปลายนิ้ว หรือจากหลอดเลือดดำ เพราะการเจาะเลือดปลายนิ้วไม่ถูกวิธี หรือเข็มที่อยู่ในหลอดเลือดดำอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ดี ลึกหรือตื้นเกินไป ปลายเข็มเลื่อนไปมา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะเลือดหนืด

ตรวจเลือดทุกครั้ง ต้องงดน้ำ งดอาหาร

การงดน้ำ งดอาหาร สำหรับการตรวจเลือดนั้น จะทำเฉพาะการตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันเท่านั้น ส่วนการตรวจเลือดอื่นๆนั้นไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร

การตรวจเลือดสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคมะเร็ง

การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง/สารมะเร็ง (Tumor marker) นั้น มีข้อบ่งชี้ในการตรวจวัดเพื่อใช้ประกอบในการวินิจฉัยโรคและติดตามโรคว่า มีการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ การตรวจเลือดโดยดูว่ามีสารมะเร็งขึ้นสูงหรือไม่ ถ้าสูงจะบอกว่าเป็นมะเร็งนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้อง เพราะมีผลบวกปลอม (หมายความว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง แต่มีระดับสารมะเร็งขึ้นสูง) ได้เสมอ เช่น ระดับ พีเอสเอ (PSA, ค่าสารที่ช่วยการตรวจรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก) ที่สูงขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเท่านั้น แต่การติดเชื้อของต่อมลูกหมาก หรือต่อมลูกหมากโต ก็ทำให้ระดับ พีเอสเอ สูงขึ้นได้

ผลตรวจสุขภาพพบว่ามีตับอักเสบ แต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ต้องรักษาภาวะตับอัก เสบให้หาย โดยการให้ยาอินเตอร์เฟียรอน

ผลการตรวจสุขภาพที่ระบุว่ามีภาวะตับอักเสบนั้น เพราะมีระดับค่า เอแอลที (ALT) และเอเอสที (AST) ในเลือดสูงขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากหลายภาวะ เช่น ตับอักเสบจากไวรัส (ไวรัสตับอักเสบ) ไขมันเกาะตับ หรือ ไม่ได้มีตับอักเสบ เพียงแต่มีค่าสูงเกินค่าปกติของโรงพยาบาลนั้นๆที่กำหนดตามมาตรฐานของห้องตรวจแต่ละที่ เช่น ค่าปกติไม่เกิน 34 แต่ค่าของผู้ป่วย 35 ผลการตรวจที่ถูกตั้งค่าไว้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ก็จะระบุมาว่ามีภาวะตับอักเสบ ซึ่งจริงแล้วไม่มีภา วะนั้นเลย ดังนั้นต้องแยกก่อนว่ามีภาวะผิดปกติจริงหรือไม่ ถ้าผิดปกติก็จะต้องดูต่อว่ามีสาเหตุจากอะไร การรักษาด้วยยาอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) นั้น ใช้เฉพาะตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสระยะเรื้อรัง ถ้าเป็นจากสาเหตุอื่นๆก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอินเตอร์เฟียรอน

ผลตรวจสุขภาพระบุว่าหัวใจโต โดยไม่มีอาการผิดปกติและไม่มีโรคความดันโลหิตสูง ต้องรักษาเสมอ

จริงแล้วกรณีนี้ อาจไม่ต้องรักษาเลยก็ได้ ถ้าไม่มีความผิดปกติใดๆ การตรวจเอกซเรย์ปอดแล้วพบว่าหัวใจโตนั้น เป็นการดูเงาว่าขนาดของหัวใจต่อช่องอกมีอัตราส่วนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากเทคนิคการถ่ายเอกซเรย์ที่ผิดพลาดไปก็ได้ การวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจโตนั้นต้องมีอาการผิดปกติเริ่มต้นร่วมกับการตรวจเอกซเรย์ หรือตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography) ดังนั้นไม่ต้องตกใจอะไร

ผลตรวจสุขภาพปกติแสดงว่าไม่ได้เป็นโรคอะไร จึงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆได้

การตรวจสุขภาพประจำปีที่ให้ผลปกติ มีความหมายว่า ไม่พบความผิดปกติในส่วนที่ได้ รับการตรวจเท่านั้น เช่น ตรวจร่างกายพบว่าความดันโลหิตปกติ ไม่พบระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือด หรือการทำงานของตับ ไตปกติ ก็มีความหมายว่าไม่มีโรคความดันโลหิตสูง ไม่เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และตับ ไตทำหน้าที่ปกติ ซึ่งไม่ได้หมายรวมว่าท่านมีสุข ภาพที่ปกติทั้งหมด เพราะการทำงานบางอย่างของร่างกายไม่สามารถประเมินได้ง่ายๆ เช่น ไม่สามารถบอกได้ว่าท่านเริ่มมีโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมองแข็งตัว มีความยืดหยุ่นต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ท่อเลือดแดงแข็ง) หรือบอกไม่ได้ว่าท่านเป็นมะเร็งบางชนิดในระยะเริ่มต้นได้ ถึงแม้ท่านจะได้ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง/สารมะเร็งก็ตาม

การตรวจสุขภาพ ไม่ได้บ่งชี้ว่าที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ท่านจะไม่ดูแลสุขภาพ (เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ตลอด แต่ผลตรวจออกมาปกติ) จะเป็นสิ่งที่บอกว่า ท่านควรทำพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างนั้นต่อไป ดังนั้นการที่ผลตรวจปกติ ก็เป็นสิ่งดีที่บอกว่าท่านมีสุขภาพที่ผ่านมาโดยรวม อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งท่านก็ต้องดูแลสุขภาพให้ดีต่อไปเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว ซึ่งการดูแลสุข ภาพให้ดีตลอดไปในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคพบบ่อยต่างๆ ( โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอัมพาต/โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ) เช่น บุหรี่ สุรา โรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย

สรุป

การตรวจสุขภาพ ก็เพื่อให้เราทราบว่า เรามีความผิดปกติอะไรตั้งแต่เริ่มต้นเป็นโรค เป็นการให้ความตะหนักถึงความสำคัญของการป้องกันดีกว่าการแก้ไข แต่ถ้าการตรวจสุขภาพทำให้เราเกิดความกังวลและตกใจก็เป็นการผิดวัตถุประสงค์