ความเข้าใจผิดทางการแพทย์ที่พบบ่อย (Common misunderstood in medicine)

สารบัญ

บทนำ

การทำความเข้าใจกับสิ่งที่เข้าใจผิดนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เราจำได้ดี ยิ่งความเข้าใจผิดกับปัญหาสุขภาพยิ่งควรทำ เพราะมีผลกับสุขภาพเราโดยตรง ลองติดตามดูว่าความเข้าใจผิดที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง เราเคยเป็นแบบนี้หรือไม่

ถ้ามีอาการปวดเอวก็คือเป็นโรคไตแน่ๆ

ความเข้าใจผิดทางการแพทย์ที่พบบ่อย

อาการปวดเอว เป็นอาการที่พบบ่อย น่าจะพบได้บ่อยรองลงมาจากปวดหัว/ปวดศีรษะ สาเหตุของอาการปวดเอว ที่พบบ่อย คือ อาการจาก กล้ามเนื้อหลัง, กระดูกสันหลัง, หมอนรองกระดูก, และ เส้นประสาทในส่วนสันหลัง

ส่วนสาเหตุจากโรคไตที่ทำให้ปวดเอวนั้นมักจาก กรวยไตอักเสบ (ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปัสสาวะไม่สะดวก และเจ็บบริเวณเอว) ซึ่งอาการของโรคไตโดยทั่วไปที่พบบ่อย คือ ปัสสาวะลดลง หรือมากขึ้น บวมบริเวณใบหน้า เปลือกตา/หนังตา เท้า/ขาบวม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ภาวะซีด ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดหลังอย่าเพิ่งตกใจหรือกลัวว่าเป็นโรคไต

ถ้ามีอาการ ปวดท้อง จุกแน่น เสียด ต้องตรวจอัลตราซาวด์ จึงจะรู้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล

สาเหตุของอาการ ปวดท้อง จุกแน่น เสียดท้อง มีหลายสาเหตุ ได้แก่

  1. โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผล
  2. โรคตับ โรคของถุงน้ำดีและ/หรือท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี
  3. อื่นๆ เช่น มีก้อนในช่องท้อง ความเครียด โรคกล้ามเนื้อ โรคหัวใจ โรคของปอด โรคเส้นประสาท

ทั้งนี้ การวินิจฉัยนั้น จะพิจารณาจากอาการที่ผิดปกติ และจากการตรวจร่างกายเป็นหลัก การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องจะช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และก้อนในช่องท้อง ส่วนโรคของกระเพาะอาหารและลำไส้ (โรคระบบทางเดินอาหาร) อัลตราซาวด์ช่องท้องมีข้อจำกัดอย่างมาก ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือแผลที่ลำ ไส้ ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาส่งตรวจอัลตราซาวด์เมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น เช่น ตรวจร่างกายแล้วพบก้อนเนื้อในช่องท้อง

ไขมันในเลือดสูงพบเฉพาะในคนอ้วนเท่านั้น คนผอมไม่ต้องตรวจไขมันในเลือดจริงหรือ?

เป็นความเข้าใจที่ผิดมาก คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าคนอ้วนมีไขมันในเลือดสูง เพราะไขมันที่สะสมในร่างกาย เช่น พุง พอกพูนด้วยไขมัน ก็จะไปสะสมในเลือดและตับ ส่วนคนผอมไม่มีไขมันสะสมในร่างกายอยู่แล้ว ในเลือดหรือตับก็เลยไม่มีไขมันด้วย

ไขมันในเลือดมีส่วนที่สัมพันธ์กับไขมันที่ตับ คือ คนอ้วนที่มีไขมันสะสมมากในร่างกายก็ย่อมมีโอกาสที่ไขมันในเลือดจะสูงด้วย แต่คนผอมก็มีโอกาสจะมีไขมันในเลือดสูงได้ เพราะไข มันในเลือดสูงนั้น เกิดจากร่างกายเผาผลาญพลังงานที่ผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากไขมันที่สะสมในร่างกายโดยตรงเพียงอย่างเดียว

ถ้าไม่มีไขมันในเลือดสูงก็ไม่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพราะไม่มีไขมันไปอุดตันหลอดเลือด

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด เกิดจากการแข็งตัวของหลอดเลือดสมอง (Atherosclerosis, โรคหลอดเลือดแดงแข็ง) และการอุดตันของหลอดเลือดจากลิ่มเลือดอุดตัน (Embolism) ไม่ได้เกิดจากไขมันที่สูงอย่างเดียว ดังนั้น ถึงแม้ไม่มีไขมันสูงก็เกิดโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดได้ เพราะหลอดเลือดแข็งตัว เกิดจากสูงอายุ โรคความดันโลหิตสูง เบา หวาน อ้วน และสูบบุหรี่

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอมอาร์ไอ และ/หรือ เอมอาร์เอ สมอง สามารถบอกก่อนได้ว่าใครจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ในอนาคต

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง จะบอกได้เพียงว่ามีความผิดปกติของสมองด้านกายวิภาคหรือไม่ เช่น เลือดออกในสมอง สมองขาดเลือด เนื้องอก หรือ หินปูนในสมอง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองในอนาคตหรือไม่ และถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการตรวจประเมินหลอดเลือดสมองว่า มีการตีบ แคบหรือไม่ด้วยการตรวจเอมอาร์ไอ และเอมอาร์เอ (MRA, Magnetic resonance angiography/การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟ ฟ้า) หรือ รวมทั้งการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดสมองทั้งส่วนนอกสมอง และบริเวณคอจะสามารถบอกได้ว่า มีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดมากหรือน้อย และ/หรือมีการตีบแคบของหลอดเลือดได้ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ความผิดปกติเหล่านั้น จะส่งผลให้มีโอ กาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงหรือต่ำเท่าไหร่ และก็ไม่มีการรักษาใดๆ ถ้าผู้ป่วยยังไม่มีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้น การตรวจที่ซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีสูงเหล่านี้ จึงยังไม่ได้กำหนดให้เป็นมาตรฐานการตรวจสุขภาพประจำปี เพราะไม่มีความคุ้มค่า

โรคความดันโลหิตสูงสามารถซื้อยาทานได้ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์

เหตุของความเข้าใจผิดนี้ คือ ผู้ป่วยสังเกตว่า ทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล เพื่อมาตรวจรัก ษาโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยก็สบายดี ไม่มีอาการผิดปกติ มาโรงพยาบาลก็เพียงวัดความดันโลหิต รอคิวเข้าพบแพทย์ แต่ก็พูดคุยหรือตรวจเพียงระยะเวลาสั้นๆ 1-5 นาทีแล้วแต่ราย แล้วก็ได้รับยาเหมือนเดิมตลอด ยาที่ได้รับมาก็สามารถซื้อยาจากร้านยาทั่วไปได้เหมือนกันทุกประ การ ดังนั้น ซื้อยาทานเองดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาทำงาน ต้องลางานทุกครั้งที่มาพบแพทย์ ความจริงก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่างกัน แต่จุดที่ต่างกันคือ

  1. ต้องมีการตรวจวัดความดันโลหิต การเต้นของหัวใจทุกครั้ง และตรวจร่างกายโดยแพทย์ แต่การซื้อยาที่ร้านจะไม่มีการตรวจร่างกาย
  2. การพบแพทย์จะมีการตรวจประเมินการทำงานของหัวใจ ตรวจคลื่นหัวใจและตรวจเอกซเรย์ปอด ปีละ 1-2 ครั้ง ตรวจการทำงานของไต ตรวจระดับไขมันในเลือด และอื่นๆ ตามความจำเป็น แต่การซื้อยาเอง จะไม่ได้ตรวจส่วนนี้
  3. การพบแพทย์มีการประเมินความสม่ำเสมอของการทานยา ผลเสีย/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา หรือมีการแนะนำการดูแลตนเอง ซึ่งการซื้อยาทานเองจะไม่มีส่วนนี้

ดังนั้นถ้าท่านไม่มีเวลามาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ก็อาจให้ญาติมารับยาและเล่าอาการให้แพทย์ทราบ รวมทั้งควรมีการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะ บันทึกไว้แล้วนำมาให้แพทย์ดูด้วย อย่างไรก็ตามก็ควรต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินเป็นระยะๆ ประมาณทุก 3-6 เดือน หรือบ่อยกว่านั้น ขึ้นกับว่าคุณควบคุมโรคได้ดีขนาดไหน และมีโรคอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่

การงดน้ำ งดอาหาร เพื่อเตรียมตรวจเลือดวันที่มาพบแพทย์ ต้องงดการทานยาด้วย

การงดน้ำ งดอาหาร ก่อนการตรวจเลือดนั้น เพราะต้องเตรียมตรวจเลือดวัดระดับน้ำตาล ระดับไขมัน ซึ่งจริงแล้วสามารถดื่มน้ำได้ จึงทานยาได้ เพราะถ้าไม่ทานยาอาจก่อให้เกิดผลเสีย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้น การงดน้ำ งดอาหาร สามารถทานยาได้ และเมื่อตรวจเลือดเสร็จก็ทานอาหารได้ทันที

ถ้ามีอาการไอ ต้องเอกซเรย์ปอดทุกราย

อาการไอ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยมาก สาเหตุของการไอมีตั้งแต่อาการของโรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคหลอดลมอักเสบจากการติดเชื้อ โรคติดเชื้อที่ปอด เช่น เชื้อแบคทีเรีย วัณโรค หรือมะเร็งปอด ดังนั้นการที่ผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง ไอมีเลือดปนออกมา หรือไอเป็นเลือดสดๆ มีไข้สูงนานเป็นสัปดาห์ ไม่ดีขึ้น ผอมลง เบื่ออาหารต้องพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอด แต่ถ้าเป็นเพียงไข้ ไอ น้ำมูก การทานยาลดไข้ ลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ก็ดีขึ้น คงไม่จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์ปอด ทั้งนี้แพทย์ที่ตรวจร่างกายคุณจะเป็นผู้ประเมินว่า คุณสมควรต้องเอกซเรย์ปอดหรือไม่

ตรวจภาพปอดต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เท่านั้น เอกซเรย์ปอดธรรมดาสู้ไม่ได้

การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อวัยวะส่วนต่างๆนั้น มีข้อดีกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา (Plain film) คือ การเห็นภาพรายละเอียดของอวัยวะที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งการตรวจเอกซเรย์ธรรมดาไม่สามารถเห็นได้ ดังนั้นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นั้น แพทย์จะส่งตรวจต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น เช่น แพทย์สงสัยว่ามีก้อนผิดปกติที่ปอดหรือในช่องอก ซึ่งแพทย์ประเมินจากอาการที่ผิดปกติ และจากเอกซเรย์ปอดธรรมดาพบความผิดปกติ และแพทย์ต้องการเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การวินิจฉัยที่แน่ชัด และเพื่อวางแผนในการรักษาต่อไป ดังนั้นไม่ใช่ว่ามีอาการผิด ปกติทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีเสมหะ ก็ต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อจะได้เห็นภาพปอดที่ชัดเจน

ถ้าปวดศีรษะต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/เอมอาร์ไอสมองเสมอ

การรักษาอาการปวดศีรษะที่จะได้ผลดีนั้น คือ การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง การวินิจฉัยที่ถูก ต้องนั้นต้องประกอบด้วย การสอบถามอาการผิดปกติของผู้ป่วยที่มีรายละเอียดชัดเจน ร่วมกับการตรวจร่างกายที่ครบถ้วน ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้มากกว่า 90% ประกอบการปวดศีรษะนั้น 90% เป็นอาการปวดจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือเอมอาร์ไอสมอง เพียงการสอบถามประวัติที่มีรายละเอียดชัดเจน ร่วมกับการตรวจร่างกาย ก็สามารถให้การวินิจฉัยและรัก ษาได้ถูกต้อง ดังนั้นผู้ป่วยที่ต้องเอกซเรย์หรือเอมอาร์ไอสมองนั้น ได้แก่ ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะมีรอยโรคในสมองเท่านั้น โดยมีลักษณะของอาการปวดศีรษะร้ายแรง คือ

  1. อาการปวดศีรษะรุนแรง (ปวดศีรษะร้ายแรง) ในผู้สูงอายุ
  2. มีไข้ ปวดศีรษะมาก และซึมลง และ/หรือมีอาการชักร่วมด้วย
  3. มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น แขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หลับตาไม่ได้
  4. มีอาการปวดศีรษะร่วมกับมีความดันในกะโหลกศีรษะสูง ได้แก่ อาเจียน ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน
  5. อาการปวดศีรษะรุนแรงในผู้ป่วย โรคตับวาย ไตวาย หรือ ทานยาละลายลิ่มเลือด

เมื่อเหนื่อยง่าย ต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเสมอ

อาการเหนื่อยง่าย มีสาเหตุทั้งจาก โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเลือด การวินิจฉัยโรคนั้น แพทย์จะใช้ข้อมูลจากประวัติอาการผู้ป่วยกับการตรวจร่างกายเป็นหลัก และเมื่อสงสัยว่าสาเหตุเกิดจากโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจัง หวะ ไม่สม่ำเสมอ ก็จะส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

เมื่อมีไข้ ต้องตรวจเลือดเสมอ

การตรวจเลือดกรณีผู้ป่วยมีไข้นั้น แพทย์จะส่งตรวจดูความผิดปกติของความสมบูรณ์ของเลือด (การตรวจซีบีซี/CBC) เพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร และตรวจดูว่ามีสาเหตุของการติดเชื้อจากเชื้อบางชนิดที่สามารถตรวจได้จากการตรวจทางน้ำเหลืองได้ (Serology) รวมทั้งการเพาะเชื้อเพื่อให้ทราบแน่นอนว่า เกิดจากเชื้อโรคชนิดไหน

โดยทั่วไปแล้ว การมีไข้มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ชนิดที่หายเองได้ หรือไม่ ก็รักษาได้ไม่ยาก ไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากการตรวจเลือด เพราะวิธีการรักษาไม่ซับซ้อน และไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการรู้ชนิดของเชื้อที่ก่อโรคแน่ชัด กับการรักษาโดยอาศัยอาการไข้ร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ หรืออาศัยข้อมูลทางระบาดวิทยาในช่วงการระ บาดของโรคนั้นๆ แพทย์จะส่งตรวจเลือด เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น หรือสงสัยว่าเกิดจากโรคที่มีความร้ายแรง หรือจากโรคติดต่อ หรือต้องให้การรักษาด้วยยาบางชนิดที่อาจส่งผลรุนแรงต่อ ตับ ไต เพื่อต้องมีการประเมินหน้าที่ของตับ ไตก่อนการรักษา เป็นต้น

สรุป

ความเข้าใจผิดต่างๆทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อมีความสงสัย แต่ไม่มีการสอบถามข้อมูล หรือคำตอบ/คำอธิบายจาก แพทย์ พยาบาล ไม่ชัดเจน ดังนั้นผมอยากให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีข้อสงสัยใดๆก็ตามสอบถามให้กระจ่างจากแพทย์ พยาบาล ที่ท่านพบ อย่าคิดไปเองโดยเด็ดขาด