คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาคลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide หรือ คลอโรไทอะไซด์โซเดียม/Chlorothiazide sodium) คือ ยาประเภทกลุ่มยาขับปัสสาวะ ทางแพทย์ได้นำมาร่วมรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคความดันโลหิตสูง, ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย, รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นของยานี้จะเป็นลักษณะเป็นยาชนิดรับประทาน

ยาคลอโรไทอะไซด์ ดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ค่อนข้างน้อย เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาสามารถซึมผ่านรกและมีปริมาณยาเล็กน้อยที่ซึมผ่านเข้าในน้ำนมของมารดา และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 45 - 120 นาทีเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อจำกัดของการใช้ยานี้มีกับผู้ที่แพ้ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ผู้ป่วยด้วยภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด รวมถึงการใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนหน้านี้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของการใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรต้องผ่านการตรวจคัดกรองและใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

คลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

คลอโรไทอะไซด์

ยาคลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาบรรเทาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย

คลอโรไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอโรไทอะไซด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่เนื้อเยื่อไต/หน่วยไต (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไต) โดยลดการดูดกลับเข้าหลอดเลือดของสารเกลือแร่จากน้ำปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการขับเกลือโซเดียมในรูปแบบโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) และขับน้ำออกจากร่างกายได้มากขึ้น จากกลไกนี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการลดความดันโลหิตและลดอาการบวมน้ำของร่างกาย

คลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด

คลอโรไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาคลอโรไทอะไซด์ ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะใช้สำหรับลดความดันโลหิตสูงและลดอาการบวมน้ำของร่างกาย มีขนาดรับประทาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 500 - 1,000 มิลลิกรัมครั้งเดียว หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุมากกว่า 6 เดือน : รับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันครั้งเดียว หรือแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง โดยต้องอยู่ในคำสั่งใช้ยาและในการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • เด็กทารก - เด็กอายุ 6 เดือน: รับประทานประมาณ 10 - 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง, โดยต้องอยู่ในคำสั่งการใช้ยาและในการดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*****หมายเหตุ:

  • สามารถกินยานี้ได้ก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอโรไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอโรไทอะไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคลอโรไทอะไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

คลอโรไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคลอโรไทอะไซด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้เช่น

  • เกิดภาวะเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • กระหายน้ำ
  • มีอาการโรคเกาต์ กำเริบ
  • ปากคอแห้ง
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นตะคริว
  • เบื่ออาหาร
  • อาจเกิดอาการลมชัก
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • อาจเกิดการแพ้ยา
  • เกิดภาวะดีซ่าน
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • การตรวจปัสสาวะ: อาจพบมีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ
  • ผิวแพ้แสงแดด
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน

มีข้อควรระวังการใช้คลอโรไทอะไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต ระยะรุนแรง, ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด, ผู้ป่วยที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง, และผู้ป่วยด้วยอาการโรคแอดดิสัน (Addison’s disease: โรคการทำงานผิดปกติของต่อมหมวกไต)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยโรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวระยะรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องคอยตรวจควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอโรไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

คลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ ร่วมกับ ยา Amiodarone สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจ เต้นผิดจังหวะ รวมถึงมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่น วิงเวียน เป็นลม อ่อนเพลีย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการ ใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับยา Cisapride ด้วยจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วยติดตามมา
  • การใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ ร่วมกับ ยา Lithium อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจาก Lithium มากขึ้นเช่น พบอาการ ท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน มีอาการตัวสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ก่อนการใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป

ควรเก็บรักษาคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?

สามารถเก็บยาคลอโรไทอะไซด์:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

คลอโรไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคลอโรไทอะไซด์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Diuril Injection (ไดยูริล อินเจ็คชั่น) OVATION PHARMACEUTICALS
Diuril suspension (ไดยูริล ซัสเพนชั่น) MERCK and CO Info
Chlorothiazide tablet, USP (คลอโรไทอะไซด์ แท็ปเบลท, ยูเอสพี) Mylan Pharmaceuticals Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorothiazide [2021,May1]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/chlorothiazide?mtype=generic [2021,May1]
  3. https://www.drugs.com/cdi/chlorothiazide-injection.html [2021,May1]
  4. https://www.mims.com/philippines/drug/info/chlorothiazide?mtype=generic [2021,May1]
  5. https://www.drugs.com/dosage/chlorothiazide.html#Usual_Adult_Dose_for_Edema [2021,May1]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/chlorothiazide-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May1]
  7. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682341.html#storage-conditions [2021,May1]
  8. https://www.drugs.com/chlorothiazide-images.html [2021,May1]
  9. https://www.mims.com/philippines/drug/info/diuril [2021,May1]
  10. https://reference.medscape.com/drug/diuril-chlorothiazide-342411 [2021,May1]
  11. https://www.google.co.th/search?q=chlorothiazide+tablet+image&rlz=1C2GIWA_enTH602TH602&biw=1920&bih=955&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ei=c67uVM3UGYuwuASWv4BY&ved=0CBsQsAQ [2021,May1]