ข้ออักเสบติดเชื้อ ข้อติดเชื้อ (Septic arthritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ข้ออักเสบติดเชื้อ หรือข้อติดเชื้อ (Septic arthritis หรือ Infectious arthritis) คือโรคที่ข้อต่างๆของร่างกายเกิดอักเสบจากติดเชื้อซึ่งเกือบทั้งหมดจากเชื้อแบคทีเรีย,  โดยข้อติดเชื้อที่พบน้อยมากคือติดเชื้อไวรัส และที่พบได้ในกลุ่มผู้มีภูมคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่อง คือ ข้อติดเชื้อรา

ข้ออักเสบติดเชื้อมีชื่อเรียกต่างๆได้หลายชื่อ เช่น

  • เมื่อข้อติดเชื้อแบคทีเรียจะเรียกว่า “Bacterial arthritis”
  • เมื่อข้อติดเชื้อไวรัสจะเรียกว่า “Viral arthritis”
  • เมื่อข้อติดเชื้อราจะเรียกว่า “Fungal arthritis”
  • เมื่อข้อติดเชื้อแบคทีเรียจากเชื้อหนองใน/โกโนเนรีย จะเรียกว่า “Gonococcal arthritis”
  • เรียกข้อติดเชื้อแบคทีเรียที่นอกเหนือจากเชื้อหนองใน ในภาพรวมว่า “Non gonococcal arthritis”
  • เมื่อมีหนองเกิดขึ้นในข้อ จากข้อติดเชื้อชนิดใดๆก็ตาม จะเรียกว่า “Suppurative arthritis”

ข้ออักเสบติดเชื้อ ทั่วไปมักเกิดเพียงข้อเดียว แต่พบเกิดหลายข้อพร้อมกัน หรือ เกิดทีละข้อๆไม่พร้อมกันก็ได้ ขึ้นกับสาเหตุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ทั้งนี้ข้อติดเชื้อสามารถเกิดได้กับทุกข้อของร่างกาย โดยข้อที่พบมีการติดเชื้อบ่อยที่สุด คือ ข้อเข่า และข้อสะโพก

ข้ออักเสบติดเชื้อพบได้เรื่อยๆ สถิติทั่วไปในแต่ละปีพบโรคนี้ได้ต่างกันในแต่ละประเทศ, พบทุกเพศ ทุกวัย, ในประเทศตะวันตก ในแต่ละปี มีรายงานประมาณ 7.8 รายต่อประชากร 1 แสนคน,  เกิดจากโรคหนองในประมาณ 2.8 รายต่อประชากร1แสนคน, และเกิดจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ 2% - 10%

อะไรคือสาเหตุของข้ออักเสบติดเชื้อ? ติดเชื้อจากทางใด?

 

ข้ออักเสบติดเชื้อมีสาเหตุจากข้อติดเชื้อโรค ซึ่งอาจจากเชื่อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ซึ่งเมื่อข้อติดเชื้อเกิดอย่างรวดเร็วและรักษาให้หายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์เรียกว่า “ข้ออักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน หรือ ข้อติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute infectious arthritis)” แต่ถ้าข้อติดเชื้อเป็นๆหายๆเรื้อรัง มีอาการเรื้อรัง และใช้เวลารักษานานหลายเดือน เรียกว่า “ข้ออักเสบติดเชื้อเรื้อรัง หรือ ข้อติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic infectious arthritis)”

ก. ข้อติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ใช่เชื้อหนองใน: เป็นสาเหตุเกิดบ่อยที่สุด  คือ ประมาณ 80% ของผู้ป่วยข้อติดเชื้อทั้งหมด  ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Staphylococcus รองลงไปคือจากเชื้อ Streptococci นอกนั้นเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดต่างๆทั้งชนิด แกรมบวกหรือชนิดแกรมลบ  ซึ่งถ้าข้อติดเชื้อจากแผลถูกตำ มักเกิดจากเชื้อ Pseudomanas และในเด็กเล็กที่พบบ่อยต่างจากในผู้ใหญ่ คือจาก เชื้อ  Haemophilus influenzae

ทั้งนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ มักตรวจพบเชื้อได้จากการเพาะเชื้อจากของเหลว หรือจากหนองที่อยู่ในข้อที่อักเสบ โดยอัตราตรวจพบได้สูงถึงประมาณ 80-90%

ข. ข้อติดเชื้อแบคทีเรียหนองใน: มักพบในคนวัยหนุ่มสาววัยมีเพศสัมพันธ์บ่อย สถิติเกิดต่างกันมากในแต่ละประเทศขึ้นกับการสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ มีรายงานพบได้ประมาณ 5% ถึง 3% ของผู้ป่วยโรคหนองใน

ค. แบคทีเรียที่มักเป็นสาเหตุเกิดข้อติดเชื้อเรื้อรัง: ซึ่งพบได้น้อย เช่น จากเชื้อ วัณโรค

ง. เชื้อไวรัส: พบได้น้อย เช่นจาก เชื้อเอชไอวี, เชื้อโรคหัดเยอรมัน, ไวรัสตับอักเสบ บี

จ. เชื้อรา: มักพบในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ แต่ก็พบได้น้อย เช่น ในผู้ป่วยเอชไอวี เบาหวาน โดยเชื้อราที่พบเป็นสาเหตุบ่อย คือเชื้อแคนดิดา (แคนดิไดอะซิส)

ติดเชื้อทางใด?:

การติดเชื้อของข้อ เกิดได้จากหลายทางที่พบบ่อย เช่น

  • จากเชื้อที่มาตามกระแสเลือดจาก มีบาดแผล หรือ มีการติดเชื้อในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไปจากข้อที่ติดเชื้อ เช่นจาก ฟันผุ,  โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ, โรคลิ้นหัวใจ, กระดูกอักเสบ, ใช้เข็มฉีดยาที่ติดเชื้อ (เช่น กรณีฉีดสารเสพติด), หรือจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • จากเชื้อเข้าสู่ข้อนั้นๆโดยตรงจากอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้, เช่น แผลถูกแทง ถูกยิง เข้าข้อ, การผ่าตัดรักษาโรคข้อ,  การเจาะน้ำจากข้อในการรักษาข้อเข่าเสื่อม, หรือ จากอุบัติเหตุที่เกิดข้อฉีกขาด
  • จากเชื้อลามมาจากแผลติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใกล้เคียงที่อยู่ติดกับข้อนั้นๆ เช่น จากแผลที่ผิวหนัง หรือจากกระดูกอักเสบชิ้นเดียวกับข้อที่ติดเชื้อ

ข้ออักเสบติดเชื้อมีอาการอย่างไร?

อาการของข้อติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด คือ มีไข้สูง, ร่วมกับมีอาการปวด/เจ็บอย่างมากที่ข้อที่ติดเชื้อ ซึ่งข้อที่ติดเชื้อจะ บวม แดง ส่งผลให้เคลื่อนไหวข้อไม่ได้จากเจ็บข้อมาก ส่วนอาการอื่นนอกจากนั้น เช่น

  • อาการทั่วไปจากมีไข้: เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดหัว หนาวสั่น
  • อาการจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: กรณีสาเหตุเกิดจากเชื้อหนองใน(แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ com บทความเรื่อง ‘โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์’)
  • อาการจากสาเหตุที่จะต่างกันในแต่ละบุคคลตามสาเหตุ เช่น อาการของโรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดข้ออักเสบติดเชื้อ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดข้อติดเชื้อ เช่น

  • อายุ: เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ
  • มีประวัติโรคข้อเรื้อรังชนิดต่างๆ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคข้อที่ต้องรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ
  • มีแผลติดเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะ/เนื้อเยื่ออื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นแผลเรื้อรัง
  • ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดข้อ หรือ ส่องกล้องข้อ
  • ผู้ผ่าตัดใส่ข้อเทียม
  • ผู้ที่ฉีดยาเสพติด
  • ผู้ติดเชื้อหนองใน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' โดยเฉพาะกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเร็วที่สุดเพราะผลการรักษาโรคข้อติดเชื้อจะขึ้นกับการได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่รวดเร็ว

แพทย์วินิจฉัยข้ออักเสบติดเชื้ออย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคข้อติดเชื้อได้จาก

  • ลักษณะทางคลินิกของผู้ป่วย เช่น ประวัติอาการ  ประวัติสาเหตุที่เกิดโรค ประวัติการเจ็บป่วย การใช้ยาต่างๆ  ประวัติการผ่าตัด  ประวัติเพศสัมพันธ์  
  • การตรวจร่างกายทั่วไปร่วมกับการตรวจคลำข้อที่มีอาการและข้อต่างๆ
  • หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ว่าสงสัยเกิดจากเชื้ออะไร ซึ่งการสืบค้นต่างๆ เช่น   
    • ตรวจเลือดดูค่าต่างๆ เช่น ซีบีซี(CBC), สารภูมิแพ้, สารก่อภูมิแพ้   
    • การตรวจเชื้อและการเพาะเชื้อจากหนอง/ของเหลวที่ดูดออกมาจากข้อ
    • การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด
    • เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกน, และ/หรือเอมอาร์ไอ ภาพข้อที่มีอาการ

รักษาข้ออักเสบติดเชื้ออย่างไร?

แนวทางการรักษาข้อติดเชื้อ ได้แก่ รักษาสาเหตุ, รักษาประคับประคองตามอาการ, และอื่นๆ

ก. การรักษาสาเหตุ: เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด คือ

  • การใช้ยาปฏิชีวนะกรณีสาเหตุจากติดเชื้อแบคทีเรีย: เช่น ยา Vancomycin, Cephalosporin,  Ceftriaxone,  Fluoroquinolone ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะในระยะแรกอาจเป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือการให้ยาทางหลอดเลือดดำ, หรือการรักษาด้วย’ยาวัณโรค’กรณีสาเหตุจากเชื้อวัณโรค เป็นต้น
  • รักษาประคับประคองตามอาการกรณีข้อติดเชื้อไวรัส: ทั้งนี้เพราะเขื้อไวรัสยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส, ยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย,
    • การรักษาข้อติดเชื้อไวรัสจึงมักเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ และการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายค่อยๆกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายไปเอง
  • การใช้ยาต้านเชื้อรา: กรณีสาเหตุจากข้อติดเชื้อรา เช่นยา Amphotericin B, และยาในกลุ่มยา Azole  เช่น  Fluconazole

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ: คือ การรักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด, การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีกินอาหารได้น้อย, การจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อเพื่อลดอาการปวด  

ค. อื่นๆ: เช่น

  • รักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเบาหวาน กระดูกอักเสบ (แนะนำอ่านวิธีรักษาแต่ละโรคได้จากเว็บcom)
  • การดูดสารน้ำ/ของเหลวออกจากข้อ
  • การเจาะหนอง หรือผ่าตัดเพื่อระบายหนองออกจากข้อ
  • การผ่าตัดข้อที่ติดเชื้อเพื่อกำจัดรอยโรคในข้อที่ติดเชื้อ
  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูข้อหลังการรักษา

ข้ออักเสบติดเชื้อมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข่างเคียงที่อาจพบได้จากข้อติดเชื้อ เช่น

  • ติดเชื้อลุกลามรุนแรงจนเกิดเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) จนอาจเป็นเหตุถึงตายได้
  • การอักเสบโดยเฉพาะการอักเสบเรื้อรังส่งผลให้ข้อบาดเจ็บเสียหายจนผิดรูป ส่งผลให้ใช้ข้อไม่ได้ตามปกติจนอาจต้องผ่าตัดใส่ข้อเทียม

ข้ออักเสบติดเชื้อมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคข้ออักเสบติดเชื้อขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยที่ทำให้การพยากรณ์โรคไม่ดี เช่น

  • อายุที่มากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • มีโรคประจำตัวเรื้อรังโดยเฉพาะเมื่อควบคุมรักษาโรคประจำตัวนั้นๆได้ไม่ดี
  • มีการติดเชื้อในหลายๆข้อ
  • เป็นการติดเชื้อในข้อที่มีโรคข้อเดิมอยู่แล้ว
  • เป็นการติดเชื้อของ ข้อสะโพก หรือ ข้อไหล่
  • ได้รับการรักษาล่าช้าด้วยยาปฏิชีวนะกรณีเป็นการติดเชื้อสาเหตุจากแบคทีเรีย
  • เกิดภาวะเชื้อดื้อยา

อนึ่ง:  ทั่วไป ถ้าได้รับการรักษาที่รวดเร็ว และไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การพยากรณ์โรคแย่ลง    ข้อติดเชื้อมักรักษาได้หาย และข้อกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงปกติ แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ดี ข้อติดเชื้ออาจเป็นเหตุให้ตายได้จากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ได้ประมาณ 10-20% กรณีได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาปฏิชีวนะอย่างทันท่วงที แต่ถ้าพบแพทย์ช้ามีรายงานอัตราตายประมาณ 60-65%

ดูแลตนเองอย่างไร?

การรักษาข้ออักเสบติดเชื้อที่ในระยะแรกแพทย์มักให้ผู้ป่วยอยู่รักษาในโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ การดูแลตนเองที่บ้านทั่วไป คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ดูแลฟื้นฟูข้อตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด สม่ำเสมอ
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุข้ออักเสบติดเชื้อให้ได้ดี เช่น โรคเยื่อบุหายใจอักเสบ, ฟันผุ
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด ที่ไม่ปลอดเชื้อ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

กรณีข้อติดเชื้อที่เมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้ว ทั่วไป ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆแย่ลง เช่น มีหนองไหลออกมาจากข้อมากขึ้น ข้อบวม/ปวดมากขึ้น
  • อาการที่ดีขึ้นแล้ว แต่กลับมาเป็นใหม่อีก เช่น กลับมามีไข้
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีเลือดไหลออกจากข้อที่ติดเชื้อ หรือมีอาการบวมตามแขน ขา เนื้อตัว หรือเหนื่อยง่าย เป็นลม
  • กังวลในอาการ

ป้องกันข้ออักเสบติดเชื้ออย่างไร?

การป้องกันข้อติดเชื้อ  ทั่วไป เช่น

  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรค ที่อาจเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี เช่น เอชไอวี หนองใน ฟันผุ 
  • ระวังการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง และเมื่อเกิดอุบัติเหตุเกิดแผล หรืออุบัติเหตุต่อข้อ และ/หรือต่อกระดูก ควรรีบไปโรงพยาบาล
  • รักษาแผลที่ผิวหนังให้สะอาดเสมอ โดยเฉพาะแผลถูกตำที่จะติดเชื้อได้ง่าย และหายช้า
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด
  • เมื่อมีอาการข้อผิดปกติต่างๆ ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 2-3วันหลังดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น

บรรณานุกรม

  1. Horowitz,D., and Katzap,E. (2011). Am Fam Physician. 84, 653-660.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Septic_arthritis [2023,March4]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/236299-overview#showall [2023,March4]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK538176/ [2023,March4]
  5. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22418-septic-arthritis#diagnosis-and-tests [2023,March4]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470439/ [2023,March4]