ลมชัก: ข้อควรปฏิบัติของผู้มีอาการชักในการขับขี่รถ

ข้อควรปฏิบัติของผู้มีอาการชักในการขับขี่รถ

การขับขี่รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซด์ของผู้มีอาการชักนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีการจัดการที่ดี อาจก่อให้เกิดเรื่องเศร้าได้ ดังที่เราจะเห็นในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่ทำให้มีการสูญเสียชีวิตของผู้คนมากมาย ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับผู้มีอาการชัก ดังนั้นเรามาทำความรู้จักข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสมของผู้มีอาการชัก และต้องการขับขี่รถ ดังนี้

สำคัญที่สุดสำหรับความปลอดภัย

  • ต้องไม่มอาการชักเลยเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน เพราะระยะเวลาดังกล่าวพบว่าโอกาสเกิดการชักซ้ำใหม่มีน้อยมาก คือ ถ้าการควบคุมอาการชักได้ 12 เดือน การชักซ้ำใหม่มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ซึ่งถือว่าปลอดภัยสำหรับการขับขี่รถส่วนตัว
  • ทานยากันชักทุกวันสม่ำเสมอ ถ้าลืมวันไหนก็ไม่ควรขับรถเลย
  • ไม่อดนอน ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ลด ละ เลิกสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชักได้ง่ายขึ้นทั้งหมด
  • ถ้ามีอาการเตือนเกิดขึ้น ให้รีบหยุดรถทันที ถึงแม้จะเหลือระยะทางถึงที่หมายสั้นเพียงใดก็ตาม ห้ามคิดว่าอีกนิดเดียว เพราะมักจะเกิดอุบัติเหตุในเสี้ยววินาทีนั้นเอง

การต่อหรือขอใบอนุญาตขับขี่รถ

  • ต้องบอกความจริงกับเจ้าหน้าที่และแพทย์ผู้ให้การรักษา เพราะจะต้องบันทึกในใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีอาการชักต่อเนื่องนานมากกว่า 12 เดือนสำหรับรถส่วนตัว และ 10 ปีสำหรับรถสาธารณะ
  • ต้องบอกความจริงว่ารักษาที่ไหน กับแพทย์ท่านใด เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะได้ประสานกับแพทย์ผู้ทำการรักษาได้ถูกต้อง ผลการประเมินจะได้ถูกต้องมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของท่านเองและคนในสังคม
  • ต้องบอกด้วยว่าทานแล้วมีผลข้างเคียง เช่น มึนศีรษะ เซ ง่วงนอน มือสั่นหรือไม่ เพราะอาการเหล่านี้อาจก่อใหเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามขาดยาถึงแม้จะควบคุมอาการได้ดีแล้ว ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด

การขับขี่รถสาธารณะ รถโดยสารรับจ้าง รถบรรทุก

  • ต้องไม่มีอาการชักเลยต่อเนื่องกันนานมากกว่า 10 ปี
  • ต้องไม่มีผลข้างเคียงจากยากันชัก
  • ต้องทำการรักษาทานยากันชักสม่ำเสมอ ไม่มีลืมทานยาเลย
  • เพราะถ้าเกิดการชักขึ้น นั้นหมายถึงอุบัติเหตุที่รุนแรงต่อส่วนรวม

การขับขี่รถเป็นสิ่งต้องระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับผู้มีอาการชัก ต้องรู้ตัวเอง บอกความจริง และเคร่งครัดในแนวทางที่รัฐระบุ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ