ขุยหนังศีรษะในโรคสะเก็ดเงิน (Scalp psoriasis)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ขุยหนังศีรษะในโรคสะเก็ดเงิน

บทนำ

ขุยสีขาวบนหนังศีรษะหรือที่เรียกกันว่า รังแค (Dandruff) สามารถพบได้บ่อยในประชากรทั่วไป มักมีอาการเป็นๆหายๆและคันได้ มีผลต่อบุคลิกภาพและคุณภาพชีวิต โดยขุยเหล่านี้เกิดจากการหลุดลอกของผิวหนังส่วนบนของหนังศีรษะ ซึ่งอาจเกิดได้จากการอักเสบของหนังศีรษะในกลุ่มผื่นผิวหนังอักเสบที่มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “โรคเซบเดิร์ม” ซึ่งย่อมาจากโรคภาษาอังกฤษที่มีชื่อว่า Seborrheic dermatitis

... แต่คำถามที่พบบ่อยคือ “ขุยสีขาวบนหนังศีรษะแบบนี้ใช่รังแคปกติหรือไม่...”

กล่าวคือ ในโรคผื่นผิวหนังอักเสบสะเก็ดเงิน (โรคสะเก็ดเงิน) ซึ่งเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรังอย่างหนึ่งที่พบได้ประมาณ 1 - 3% ของประชากรทั้งหมด โดยมักมีผื่นเป็นปื้น (เป็นแผ่นหนา) สีแดง มีขุยสีขาวหนา กระจายตามส่วนต่างๆของร่างกายเช่น ตามข้อเข่า ข้อศอก แผ่นหลัง ก้นกบ และมักมี “ผื่นขุยบนหนังศีรษะร่วมด้วยได้มากถึงประมาณ 80% ของผู้ป่วยสะเก็ดเงินทั้งหมด อีกทั้งกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยสะเก็ดเงิน ขุยบนหนังศีรษะจะเป็นอาการเริ่มแรกของโรคสะเก็ดเงินได้”

ขุยหนังศีรษะของโรคสะเก็ดเงินต่างจากขุยรังแคทั่วไปอย่างไร?

ขุยบนหนังศีรษะของโรคสะเก็ดเงินต่างจากขุยรังแคทั่วไปคือ

  • ขุยบนหนังศีรษะของโรคสะเก็ดเงิน มักเป็นขุยสีขาวหนาที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะโดยที่มีขอบ เขตรอยโรคชัดเจน อีกทั้งส่วนมากจะมีปื้นขุยเลยออกมาจากขอบไรผมได้ อาจมีอาการคันร่วมด้วย แต่โดยทั่วไปไม่ทำให้ผมร่วง
  • ในขณะที่ขุยรังแคทั่วไป มักจะไม่เป็นขุยหนานัก ไม่เห็นขอบเขตรอยโรคชัดเจน ไม่เกิดเลยไรผมออกมาและอาจทำให้ผมร่วงได้
  • ขุยหนังศีรษะโรคสะเก็ดเงินวินิจฉัยได้อย่างไร?

    โดยทั่วไปแล้วแพทย์ผิวหนังจะสามารถให้การวินิจฉัยโรคขุยบนหนังศีรษะสาเหตุจากโรคสะเก็ดเงินได้จากการตรวจร่างกายผู้ป่วย จากลักษณะทางคลินิกทั้งอาการและอาการแสดง ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องตรวจร่างกายในส่วนอื่นๆของผิวหนังที่นอกเหนือจากหนังศีรษะร่วมด้วยเช่น ผิวหนัง บริเวณข้อศอก ข้อเข่า ก้นกบ แผ่นหลัง เล็บ เป็นต้น เพื่อหาว่ามีลักษณะอาการแสดงอื่นๆของโรคสะเก็ดเงินผิวหนังร่วมด้วยหรือไม่

    นอกจากนี้ในกรณีที่จำเป็นก็อาจใช้การสะกิดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคที่หนังศีรษะเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ/การตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ อย่างไรก็ตามโดยส่วนมากอาจไม่จำเป็นต้องทำการตรวจนี้เพราะลักษณะทางคลินิกก็มักสามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว

    ขุยบนหนังศีรษะโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไร?

    ขุยบนหนังศีรษะโรคสะเก็ดเงินมีวิธีรักษาเช่น

    1. หลีกเลี่ยงการแกะเกาเพราะจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้มีการลอกของหนังศีรษะมีขุยมากขึ้น

    2. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินเห่อ (กำเริบ) ได้ทั้งในส่วนของผิวหนังทั่วไปและที่หนังศีรษะ

    3. ทำจิตใจให้สบาย พักผ่อนร่างกาย ออกกำลังกาย ให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด การอดนอนที่เป็นสาเหตุกระตุ้นการกำเริบของโรคนี้

    4. การหมักละลายขุยที่หนังศีรษะเช่น การใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือยาละลายขุยในกลุ่มกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid, ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้) โดยอาจหมักน้ำมัน/ยานี้ไว้ที่หนังศีรษะ แล้วคลุมด้วยถุงพลาสติกครอบหนังศีรษะข้ามคืน แนะนำให้ทำอย่างน้อยสัปดาห์ ละ 1 - 2 ครั้ง ซึ่งการละลายขุยที่หนังศีรษะนี้เป็นส่วนสำคัญมากในการรักษา เพราะเมื่อขุยละลายออกได้มากก็จะช่วยให้หนังศีรษะสามารถดูดซึมยาทาที่ใช้ลดการอักเสบของรอยโรคที่หนังศีรษะได้ดีขึ้น

    5. การใช้แชมพูเช่น แชมพูกลุ่มน้ำมันดิน (Coal tar solution) เพื่อลดการอักเสบของหนังศีรษะ โดยใช้สระผมอย่างน้อย 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์

    6. การใช้ยาทาเฉพาะที่ซึ่งมักเป็นยาในกลุ่มยาสเตียรอยด์หรือยาในกลุ่มอนุพันธุ์ของวิตามินดี เพื่อลดการอักเสบของหนังศีรษะ อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้มักมีข้อจำกัดในการใช้ ไม่ควรใช้นานเกิน 2 สัปดาห์ ควรใช้ภายใต้การแนะนำและควบคุมของแพทย์ด้านโรคผิวหนัง

    7. การใช้ยารับประทานซึ่งมักเป็นยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินที่มีความรุนแรงปานกลางหรือที่รุนแรงมากขึ้นไป ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินและติดตามผลระ หว่างการให้ยารับประทานเหล่านี้รักษาด้วยเช่น ยา Methotrexate

    8. การใช้ยาฉีดชีวภาพเช่น ยา Tacrolimus มักใช้ในกรณีที่เป็นผื่นรุนแรงมากและดื้อต่อการรักษาวิธีอื่นๆแล้ว เพราะการใช้ยาฉีดชีวภาพเป็นการรักษาที่มีราคาค่อนข้างสูงและแพทย์จำเป็นต้องติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

    9. การฉายแสงรังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV light) เฉพาะที่ มักใช้ในกรณีที่เป็นผื่นที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย ไม่ต้องตรวจเลือด แต่มีข้อจำกัดคือต้องทำการรักษาหลายครั้งเพื่อให้ผื่นดีขึ้น

    อย่างไรก็ตาม “เมื่อมีขุยที่หนังศีรษะ การจะบอกว่าเป็นรังแคปกติหรือเป็นอาการเริ่มต้นของโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยอาจไม่สามารถประเมินได้เอง ดังนั้นการไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจวินิจ ฉัยจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด” ไม่ควรซื้อยามาทาเองเพราะยาแต่ละชนิดก็มีผลข้างเคียงและข้อจำกัดในการใช้ที่แตกต่างกัน