ขาดวิตามินดี มีโอกาสซึมเศร้า (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

มีงานวิจัยบางแห่งระบุว่าคนผิวดำที่อาศัยอยู่ในเขตอากาศอบอุ่นจะมีวิตามินดีในระดับที่ต่ำ เพราะคนผิวดำสามารถสร้างวิตามินดีได้น้อยกว่าเนื่องจากสารเมลานีน (Melanin) ที่เป็นสารสีดำของผิวหนังจะขัดขวางการสังเคราะห์วิตามินดี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในระยะหลังบางแห่ง ได้ระบุว่าการที่ชาวแอฟริกันมีระดับวิตามินดีที่ต่ำ อาจมาจากสาเหตุอื่นก็ได้

ในผู้ใหญ่ การบริโภควิตามินดีที่มากกว่า1,250 ไมโครกรัมต่อวัน สามารถทำให้เกิดพิษได้ เช่น ทำให้เกิดภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานผลิตฮอร์โมนมากเกินไป (Hyperparathyroidism) และทำให้แคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)

ในกรณีหญิงมีครรภ์ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูงก็อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความไว (Sensitive) ต่อการรับวิตามินดีเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ อาจทำให้ทารกปัญญาอ่อนและมีความพิการบนใบหน้าได้ ดังนั้นหญิงมีครรภ์หรือหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะรับประทานอาหารเสริมวิตามินดี

ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ (Institute of Medicine : IOM) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับในแต่ละวันไว้ดังนี้

  • อายุ 1–70 ปี : 15 ไมโครกรัม
  • อายุ 71 ปีขึ้นไป : 20 ไมโครกรัม
  • หญิงมีครรภ์ / หญิงอยู่ระหว่างการให้นมบุตร : 15 ไมโครกรัม

การได้รับวิตามินที่มากเกินจะทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงซึ่งอาจทำให้เกิด ภาวะเบื่ออาหาร (Anorexia) อาการคลื่นไส้ (Nausea) อาเจียน (Vomiting) ตามด้วยอาการภาวะปัสสาวะมาก (Polyuria) อาการกระหายน้ำมากเรื้อรัง (Polydipsia) อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ (Insomnia) กระวนกระวาย และอาการคัน (Pruritus)

แต่ในที่สุด อาจทำให้เกิดภาวะไตวาย (Renal failure) ภาวะปัสสาวะมีโปรตีน (Proteinuria) ภาวะเลือดคั่งสารไนโตรเจน (Azotemia) และอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของการมีแคลเซียมเกาะ (Metastatic calcification) โดยเฉพาะในไต (Kidney)

การรักษาอาการพิษจากวิตามินดี (Vitamin D toxicity) ทำได้โดยการหยุดรับประทานอาหารเสริมวิตามินดีและแคลเซียม แต่ไตที่ถูกทำลายแล้วไม่สามารถรักษาให้ดีดังเดิมได้ อย่างไรก็ตาม การอยู่ในแสงแดดเป็นระยะเวลานานไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพิษจากวิตามินดี ภายในระยะเวลา 20 นาทีที่ผิวหนังถูกแสงแดด ความเข้มข้นของวิตามินดีที่ผิวหนังจะเข้าถึงสภาวะสมดุล (Equilibrium) หลังจากนั้นวิตามินดีที่ถูกสร้างก็จะลดลงเอง

ครีมกันเเดดสามารถซึมซับรังสีอัลตราไวโอเลตและป้องกันไม่ให้รังสีถูกผิวหนังได้ ครีมกันเเดดที่มีค่า SPF (= Sun protection factor) 8 สามารถลดการสังเคราะห์วิตามินดีได้ถึงร้อยละ 95 ในขณะที่ครีมกันเเดดที่มีค่า SPF 15 สามารถลดได้ถึงร้อยละ 98

ในทางโภชนาการ (Dietary sources) เราสามารถหาวิตามินดี 2 ได้จากตระกูลพืช (Plantae) โดยเฉพาะเห็ดนานาชนิดในประเภท ฟังใจ (Fungi) และวิตามินดี 3 ได้จากปลาดุก ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาไหล ไข่ ตับวัว และน้ำมันตับปลา

แหล่งข้อมูล:

  1. Vitamin D. http://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_D [2012, July 11].