ขาดน้ำเหมือนขาดใจ (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

ขาดน้ำเหมือนขาดใจ

การป้องกันภาวะขาดน้ำ สามารถทำได้ด้วยการดื่มน้ำให้มากและกินอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เช่น ผลไม้และผัก ในคนที่มีสุขภาพดีการกระหายน้ำเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายขาดน้ำ แต่ก็ไม่ควรรอจนรู้สึกกระหายน้ำมากจึงค่อยดื่ม เพราะมีหลายกรณีที่ควรดื่มน้ำมากกว่าปกติ เช่น

  • การเจ็บป่วย – ควรดื่มน้ำหรือให้ ORS เมื่อเริ่มมีอาการ อย่าปล่อยจนเกิดภาวะขาดน้ำ
  • การออกกำลังกาย – ทางที่ดีควรดื่มน้ำ 1-3 แก้ว (0.24 - 0.70 ลิตร) ก่อนการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก ระหว่างออกกำลังกายก็ควรดื่มน้ำเป็นช่วงๆ และดื่มน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นหลังออกกำลังกายด้วย

    อย่างไรก็ดีพึงจำไว้ว่า การดื่มน้ำที่มากเกินไปไม่เพียงแต่จะทำให้ท้องอืด (Bloating) และรู้สึกไม่สบาย แต่อาจทำให้เสียชีวิตได้หากโซเดียมในเลือดต่ำมากเกินไป (Hyponatremia) ซึ่งมักเกิดเมื่อมีการดื่มน้ำในปริมาณที่มากกว่าปริมาณที่สูญเสียไป

  • สภาพแวดล้อม – เมื่ออากาศร้อน จำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายและเพิ่มปริมาณน้ำที่เกิดจากการเสียเหงื่อ หรือเมื่ออยูในที่สูงก็มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำในร่างกายด้วย

    หรือกรณีของนักกีฬาเมื่อมีภาวะขาดน้ำจากการออกกำลังกายในอากาศร้อน ก็ควรเข้าพักในที่ร่ม เอนกาย (Recline) และเริ่มดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่

ข้อควรระวังเกี่ยวกับเกลือแร่ที่ใช้ชดเชยภาวะขาดน้ำ

โดยทั่วไปในท้องตลาดมีอยู่ 2 ประเภท คือ เกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสีย (Oral Rehydration Salt = ORS) กับเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy = ORT)

การเสียน้ำจากอาการท้องเสีย เป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ในทันที ร่างกายจึงต้องการน้ำและเกลือแร่มาทดแทน ส่วนการเสียน้ำหรือเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายนั้น ร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะเสียเกลือแร่ในปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นร่างกายจึงต้องการน้ำและน้ำตาลมาทดแทน

จากความแตกต่างดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นเกลือแร่สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสีย ปริมาณเกลือแร่หรือปริมาณโซเดียมจะสูงกว่า ส่วนเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย ปริมาณน้ำตาลจะสูงกว่า

เพราะฉะนั้นหากเกิดอาการท้องเสีย แต่ไปจิบน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายจะยิ่งเป็นการกระตุ้นทำให้เกิดอาการท้องเสียได้มากขึ้น เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้จะมีปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่บางชนิดที่สูงกว่า ทำให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหาร ส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้นกระตุ้นการถ่ายเหลวมากขึ้น

ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกใช้เกลือแร่ ควรพิจารณาให้ดีก่อนว่าเกลือแร่นั้นเป็นเกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย หรือเกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย

แหล่งข้อมูล

1. เตือน!! เกลือแร่ 2 แบบ กินไม่ถูก ไม่ได้ผล แถมทรุดกว่าเดิม. http://manager.co.th/goodhealth/ViewNews.aspx?NewsID=9590000003397 [2016, April 3].

2. Dehydration. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dehydration/basics/definition/con-20030056 [2016, April 3].

3. Dehydration. http://www.medicinenet.com/dehydration/article.htm [2016, April 3].