ขาดน้ำเหมือนขาดใจ (ตอนที่ 4)

ขาดน้ำเหมือนขาดใจ

ทั้งนี้ อาการกระหายน้ำอาจจะไม่เป็นตัวบ่งชี้ได้ในกรณีของเด็กและผู้สูงอายุ ตัวบ่งชี้ของภาวะขาดน้ำที่ดีก็คือ สีของปัสสาวะ กล่าวคือ ถ้าปัสสาวะมีสีใสแสดงว่าดี แต่ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มหรือสีอำพันก็มักจะบ่งบอกว่ามีภาวะขาดน้ำเกิดขึ้น ภาวะขาดน้ำสามารถทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น

  • การป่วยเนื่องจากความร้อน – เพราะร่างกายพยายามที่จะปรับอุณหภูมิในร่างกายให้ลดลงด้วยการขับเหงื่อออก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะขาดน้ำจนกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasm) จนเป็นตะคริวแดด (Heat Cramps) ยิ่งขาดน้ำมากขึ้นก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และกลายเป็นโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งอุณหภูมิในร่างกายอาจสูงถึง 41 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า
  • สมองบวม (Cerebral edema) – การได้รับน้ำหลังจากมีภาวะขาดน้ำ อาจทำให้ร่างกายดึงน้ำกลับไปยังเซลล์เป็นจำนวนมาก อาจเป็นสาเหตุให้เซลล์บวมและแตกออก ซึ่งผลจะร้ายแรงมากหากเกิดกับเซลล์สมอง
  • ชัก (Seizures) – เมื่อเกลือแร่ เช่น โปตัสเซียมและโซเดียม ที่มีหน้าที่ช่วยนำสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์ไปสู่เซลล์เกิดความไม่สมดุล อาจทำให้สัญญานผิดปกติเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหดตัวและบางครั้งอาจไม่รู้สึกตัว
  • ช็อคจากการเสียน้ำหรือเสียเลือดอย่างมาก (Hypovolemic shock) เมื่อมีภาวะขาดน้ำ การไหลของเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะของร่างกายจะไม่พอ ทำให้เซลล์และอวัยวะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ร่างกายหยุดทำงานและอาจเสียชีวิตได้
  • ไตวาย - เพราะเมื่อปริมาณน้ำในร่างกายลดลง ความดันโลหิตอาจจะตก ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะร่างกายตามส่วนต่างๆ น้อยลงจนทำให้อวัยวะนั้นๆ ทำงานไม่ได้
  • อิเล็คโทรไลท์ในร่างกายผิดปกติ (Electrolyte abnormalities) เช่น สารโซเดียม โปแตสเซียม และคลอไรด์ อาจลดลงจากการเสียเหงื่อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ
  • หมดสติ (Coma) และเสียชีวิต

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากสภาพร่างกายที่เป็นด้วยการ

  • ตรวจสภาพจิต (Mental status test) เช่น ดูว่าผู้ป่วยมีความตื่นตัว (Awake) รู้ตัว (Alert) หรือไม่
  • ตรวจสัญญาณชีพ (Vital sign assessments) เพราะกรณีที่มีภาวะขาดน้ำ หัวใจอาจเต้นเร็วและความดันโลหิตอาจตก
  • การวัดอุณหภูมิ เพื่อดูว่ามีไข้หรือไม่
  • การดูสภาพทั่วไป เช่น ผิวหนังมีความแห้ง ไม่ยืดหยุ่น และนัยน์ตาลึกหรือไม่
  • กรณีทารก อาจดูที่กระหม่อมว่าบุ๋มหรือไม่ (Sunken fontanelle)
  • ตรวจเลือด – เพื่อเช็คปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับเกลือแร่ การทำงานของไต เป็นต้น
  • ตรวจปัสสาวะ – เพื่อดูว่าปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ มีภาวะขาดน้ำระดับไหน

แหล่งข้อมูล

1. Dehydration. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dehydration/basics/definition/con-20030056 [2016, April 1].

2. Dehydration. http://www.medicinenet.com/dehydration/article.htm [2016, April 1].