คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: ขั้นตอนการทำงานของแพทย์รักษามะเร็ง
ตอนที่ 7 ระหว่างรักษา

ในระหว่างการรักษา แพทย์โรคมะเร็งนอกจากจะดูแลผู้ป่วยมะเร็งในเรื่องสุขภาพทั่วไป และผลข้างเคียงของการรักษาแล้ว แพทย์ยังจะประเมินผลการรักษา หรือผลการตอบสนองของโรคมะเร็งต่อการรักษา ร่วมไปด้วยทุกครั้ง โดยประเมินจาก อาการของผู้ป่วย การสอบถามอาการต่างๆเพิ่มเติมจากแพทย์ การตรวจร่างกาย และการตรวจรอยโรค เป็นหลัก บางครั้งเพื่อการยืนยันผลการรักษา แพทย์จำเป็นต้องถ่ายภาพรอยโรค/อวัยวะที่เป็นโรค หรือ อวัยวะที่แพทย์สงสัยมีโรคลุกลามแพร่กระจาย ทั้งนี้ อาจโดยการตรวจ เอกซเรย์ธรรมดา อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ

ถ้าจากการตรวจประเมินพบว่า ผู้ป่วยสามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการรักษาได้ และ/หรือไม่มีผลข้างเคียงเกิดมากจนกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วย แพทย์ก็จะให้การรักษาโรคมะเร็งต่อเนื่องตามแผนการรักษาที่ได้พูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยตั้งแต่แรก

ถ้าสุขภาพผู้ป่วย ไม่สามารถทนต่อการรักษาที่ให้อยู่ได้ แพทย์ผู้ให้การรักษาโรคมะเร็ง จะปรับแผนการรักษาใหม่ โดยอาจปรับเปลี่ยนตัวยาที่มีผลข้างเคียงน้อยลง และ/หรือปรับลดขนาดยา หรือปรับเปลี่ยนวิธีรักษา และ/หรือหยุดพักการรักษาตัวโรคมะเร็ง ให้การรักษาต่อเฉพาะการรักษาประคับประคองตามอาการ จนกว่าสุขภาพร่างกายผู้ป่วยจะฟื้นกลับมาแข็งแรงจนสามารถที่จะให้การรักษาโรคมะเร็งต่อได้อีก ซึ่งก็มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง มักเป็นผู้สูงอายุ ที่อาจต้องหยุดการรักษาตัวโรคมะเร็งไปเลย ให้การรักษาได้เฉพาะการรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น

ถ้าผลการประเมินพบว่า โรคมะเร็งดื้อต่อการรักษา เช่น ก้อนเนื้อโตขึ้น ก้อนเนื้อไม่ยุบ หรือมีโรคลุกลามแพร่กระจาย ถ้าสุขภาพผู้ป่วยยังแข็งแรง แพทย์ก็จะปรับแผนการรักษาใหม่ เลือกยาเคมีบำบัดตัวใหม่ ให้รังสีรักษาถ้าผู้ป่วยยังไม่เคยได้รับรังสีรักษา หรือบางครั้งอาจเป็นการผ่าตัด แต่ถ้าสุขภาพผู้ป่วยไม่อำนวย แพทย์จะหยุดให้การรักษาตัวโรคมะเร็ง โดยให้การรักษาเฉพาะการประคับประคองตามอาการ ซึ่งกรณีนี้ จะไม่มีการกลับมารักษาตัวโรคมะเร็งอีก เพราะจะไม่ได้ประโยชน์ ไม่สามารถยืดอายุ หรือบรรเทาอาการผู้ป่วยได้ แต่กลับจะเพิ่มผลข้างเคียงจากการรักษาให้มากขึ้นจนกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย กรณีเช่นนี้ แพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งอาจส่งต่อผู้ป่วยกลับไปรับการรักษาประคับประคองตามอาการจากโรงพยาบาลใกล้บ้านที่ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยสะดวก หรือถ้าครอบครัวมีขีดความสามารถ ก็สามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้เอง โดยมีแพทย์ พยาบาล ที่ให้การดูแลรักษาโรคมะเร็ง หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ โดยอาจมีการเยี่ยมบ้านเป็นครั้งคราว ขึ้นกับการบริการของแต่ละโรงพยาบาลคะ

เมื่อการรักษาครบถ้วนแล้ว แพทย์รักษามะเร็งจะทำอย่างไรต่อไป จะเล่าในตอนหน้าคะ