คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: เมื่อพบโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ ลุกลาม แพร่กระจาย หรือ เป็นโรคมะเร็งชนิดที่ 2 แพทย์รักษามะเร็งจะทำอย่างไร?

ขั้นตอนการตรวจค้นโรคมะเร็งว่ายังคงเหลืออยู่หลังการรักษาครบหรือไม่ การย้อนกลับเป็นซ้ำ และ/หรือโรคมะเร็งชนิดที่2 ดังได้เล่าให้ฟังแล้วในบทความก่อนๆ โดยสรุปก็คือ สอบถามอาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งกรณีเป็นมะเร็งชนิดสร้างสารมะเร็ง การตรวจภาพอวัยวะที่เป็นมะเร็ง หรือสงสัยมีโรคแพร่กระจาย ด้วย อัลตราซาวด์เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือการตรวจเซลล์โดยการตรวจทางเซลล์วิทยา เป็นต้น

วันนี้ จึงจะเล่าเพิ่มเติมว่า แล้วแพทย์จะทำอย่างไร เมื่อตรวจพบภาวะเหล่านั้น

เมื่อแพทย์ตรวจพบว่า ยังมีรอยโรค หรือ ก้อนเนื้อหลงเหลืออยู่หลังครบการรักษาทุกอย่างแล้วแพทย์ต้องแยกให้ได้ว่า รอยโรค/ก้อนเนื้อนั้น เป็นพังผืด หรือ มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่จริง ซึ่งวิธีตรวจที่แน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อในรอยโรค/ก้อนนั้นเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเจาะ/ดูดเซลล์จากรอยโรค/ก้อนเนื้อนั้น เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา ดังนั้นแพทย์จึงต้องประเมินว่า ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์ จากการตรวจพิสูจน์ทั้ง 2 วิธีนี้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ประโยชน์ แพทย์จะพูดคุยปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วย โดยจะใช้การตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ ถ้ารอยโรค/ก้อนเนื้อไม่มีการเปลี่ยนแปลง แพทย์จะให้การรักษาผู้ป่วยด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการ และ/หรือรอยโรค/ก้อนโตขึ้น แพทย์ก็จะพูดคุยปรึกษากับผู้ป่วยอีกครั้งว่า จะดำเนินการอย่างไร โดยคำนึงถึงประโยชน์จากการรักษาที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นหลัก

ถ้าแพทย์มีความเห็นว่า ผู้ป่วยจะได้ประโยชน์จากการตรวจทั้ง 2 วิธีการนั้น แพทย์ก็จะแนะนำการให้ได้มาซึ่งผลการตรวจทางพยาธิวิทยาและ/หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา

อนึ่ง การประเมินว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการตรวจทั้ง 2 วิธี คือ การที่แพทย์สามารถให้การรักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติมต่อเนื่องได้อีก ถ้าพบว่ายังมีโรคมะเร็งหลงเหลืออยู่ โดยดูจาก -ชนิดเซลล์มะเร็ง -ระยะโรคมะเร็งครั้งแรก -การตอบสนองของเซลล์มะเร็งในการรักษาที่ผ่านมาต่อ ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา (ก้อนมะเร็งยุบรวดเร็วภายใน 3-4 สัปดาห์หลังการรักษา) –ก้อนมะเร็งอยู่ในตำแหน่งที่ผ่าตัดได้หรือไม่ –ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงจากการรักษาที่ผ่านมาอย่างไร และได้ฟื้นตัวกลับเป็นปกติหรือยังคงมีผลข้างเคียงเหล่านั้นอยู่ (เช่น ไขกระดูกยังไม่ฟื้นตัว เป็นต้น) และที่สำคัญที่สุดคือ -สุขภาพโดยรวม -และอายุของผู้ป่วย เพราะในผู้ป่วยสุขภาพไม่สมบูรณ์ และผู้สูงอายุ การรักษาตัวโรคมะเร็งครั้งที่ 2 อาจส่งผลให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียมาก ติดเชื้อรุนแรง หรือเลือดออกรุนแรงจากไขกระดูกไม่ทำงาน จนผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากผลข้างเคียงแทรกซ้อนเหล่านี้ได้

ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ ผู้ป่วย ครอบครัว และแพทย์รักษามะเร็ง จึงต้องพูดคุยและปรึกษากันเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด

ส่วนเมื่อตรวจพบว่ามีโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ และ/หรือ ตรวจพบมะเร็งชนิดที่ 2 แพทย์มักแนะนำการตรวจชิ้นเนื้อ และ/หรือการตรวจเซลล์ซ้ำเสมอ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน ทั้งนี้จะทำเฉพาะกรณีผู้ป่วยแข็งแรงพอที่จะรับการรักษาโรคมะเร็งครั้งใหม่นี้ได้

ถ้าสุขภาพ และ/หรืออายุผู้ป่วยไม่อำนวยต่อการรักษาครั้งใหม่ แพทย์อาจไม่แนะนำการตรวจทางพยาธิวิทยา แต่แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยและครอบครัว ให้รักษาด้วยวิธีดูแลรักษาประคับประคองตามอาการ

แต่ถ้าแพทย์ประเมินแล้วว่า สุขภาพ อายุ ผู้ป่วย สามารถให้การรักษาโรคมะเร็งครั้งที่ 2 ได้ แพทย์จะทำการตรวจทางพยาธิวิทยา/เซลล์วิทยาเสมอ

ถ้าผลการตรวจทางพยาธิวิทยา/เซลล์วิทยา ไม่พบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะนัดผู้ป่วยติดตามผลการรักษาต่อไป แต่บางครั้งถ้าแพทย์เชื่อว่า น่าจะเป็นมะเร็ง แพทย์มักแนะนำการตรวจทางพยาธิวิทยา/เซลล์วิทยาซ้ำ เพื่อผลการตรวจที่แน่นอน

เมื่อผลทางพยาธิวิทยา/เซลล์วิทยา ยืนยันว่าเป็นเนื้อเยื่อ/เซลล์มะเร็ง แพทย์จะเริ่มขั้นตอนเพื่อประเมินระยะโรคมะเร็งใหม่ ประเมินสุขภาพผู้ป่วย โดยเฉพาะการทำงานของไขกระดูก ตับ และไต ประเมินผลการรักษาครั้งก่อน (เช่น ใช้วิธีรักษาวิธีใด ยาตัวใดใช้ไปแล้ว ยาตัวใดยังไม่ได้ใช้ เป็นต้น) และประเมินผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษาครั้งแรก เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว แพทย์จึงจะพูดคุยปรึกษาถึงวิธีรักษา โอกาสรักษาหาย และผลข้างเคียงจากการรักษากับผู้ป่วยและครอบครัว และร่วมกันตัดสินใจหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด

วิธีรักษาโรคมะเร็ง ทั้ง เมื่อยังมีโรคเหลืออยู่ โรคย้อนกลับเป็นซ้ำ โรคมะเร็งชนิดที่2 เพื่อการหายขาด หรือเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น ยังคง เป็นการผ่าตัด รังสีรักษายาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน และ/หรือ ยารักษาตรงเป้า ร่วมกับการรักษาประคับประคองผู้ป่วยทางอายุรกรรมทั่วไป