กินอย่างไรเมื่อปลูกถ่ายไต ตอนที่ 3

กินอย่างไรเมื่อปลูกถ่ายไต

การรับประทานอาหารควรเลือกที่เหมาะสม มีสารอาหารและพลังงานเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ไตมีความสามารถในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดูแลเนื้อไตไม่ให้ถูกทำลายมากขึ้นจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายได้ ผู้ป่วยไตวายเมื่อได้รับปลูกถ่ายไตแล้ว มักเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่างตามสบายไม่ต้องควบคุมอาหารอีกต่อไป เพราะคิดว่ามีไตใหม่มาช่วยในการขจัดของเสียในร่างกาย

การรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต

ข้าวและแป้ง ผู้ป่วยควรได้รับประมาณ 50% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ในกรณีผู้ป่วยมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ ให้ระมัดระวังฟอสฟอรัสจากอาหาร อาทิ เมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่ว และผลิตภัณฑ์จากถั่ว ช็อคโกแลต โกโก้ หอยแมลงภู่แห้ง ปลาไส้ตัน กุ้งแห้ง โคล่า ไข่แดงและผลิตภัณฑ์จากนม

เพราะการสะสมฟอสฟอรัสในร่างกายมากจะมีผลต่อระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ และวิตามินดี ทำให้เกิดภาวะกระดูกผุ และอาการกล้ามเนื้ออ่อนเพลียได้ ผู้ป่วยควรศึกษาทำความเข้าใจในผลการตรวจเลือดของตนเอง เพื่อปรับการรับประทานอาหาร

สำหรับอาหารจากแป้งประเภทอื่นๆที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ข้าวคลุกกะปิ ข้าวคลุกน้ำพริก ข้าวผัดแหนม ข้าวแกงกะทิ ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊ว ขนมจีนน้ำยา ขนมจีนน้ำพริก มันทอด ข้าวกล้อง จมูกข้าวสาลี ข้าวเหนียวดำ-แดง หมี่ซั่ว มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว อาหารเหล่านี้มีส่วนผสมของฟอสฟอรัส โปแตสเซียม โซเดียม ในปริมาณที่สูงมากและบางชนิดมีไขมันอิ่มตัวมาก

อาหารกลุ่มไขมันและน้ำมัน

ไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นหลักไขมันมีทั้งในพืชและสัตว์ ไขมันยังช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันได้อีกด้วย ผู้ป่วยควรได้รับไขมัน ประมาณ 30% ของพลังงานทั้งหมด ผู้ป่วยอาจมีภาวะไขมันในเลือดสูงได้ คือ มีโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูง ควรเลือกรับประทานน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันองุ่น น้ำมันรำข้าว ฯลฯ

เครื่องปรุงรส

การได้โซเดียมหรือกินเค็มมากเกินไปจะทำให้มีน้ำสะสมในร่างกายมากตามไปด้วย เมื่อมีน้ำมากจะเกิดความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หรือหัวใจวายได้ง่าย ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไต ควรรับประทานอาหารและเครื่องปรุงรสในอาหารไม่ให้เกิน 2,400 มก./วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่คนปกติควรได้รับ

อ้างอิง

ประเสริฐ ธนกิจจารุ .โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง. การอบรมแนวทางในการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 - 31 กรกฏาคม 2552 ; โรงพยาบาลราชวิถี. กรุงเทพฯ

ชวลิต รัตนกุล .การดัดแปลงอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง. การอบรมแนวทางในการให้คำปรึกษาด้านโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล ; วันที่ 29 - 31 กรกฏาคม 2552 ; โรงพยาบาลราชวิถี. กรุงเทพฯ

อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์ . Nutrition in Acute Kidney Injury. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.