กินหอยหน้าร้อน ระวังขี้ปลาวาฬและเชื้ออหิวาต์เทียม (ตอนที่ 1)

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อุณหภูมิที่สูงในช่วงหน้าร้อน ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในอาหารทะเลเจริญเติบโตได้ง่าย อีกทั้งยังพบมีโลหะหนักหลายชนิด ทั้งตะกั่ว สังกะสี แคดเมียม และทองแดง โดยเฉพาะอาหารทะเลประเภท ปูม้า หอยนางรม และปลาหมึก

โดยสารพิษเหล่านี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และยังมีพิษอื่นๆ ที่อาจพบได้ในอาหารทะเล อาทิ ขี้ปลาวาฬ (Red tide) ที่เกิดขึ้นจากแพลงตอนจำพวกไดโนแฟลกเจลเลต (Dinoflagellate) ที่สามารถพบได้ในน้ำทะเลทั่วๆ ไป โดยสังเกตได้จากน้ำที่มีสีน้ำตาลแดง

เมื่ออากาศร้อนจัดสัตว์ชนิดนี้ จะแบ่งเซลล์และเจริญเติบโตได้ในน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว โดยขี้ปลาวาฬจะเข้าสู่สัตว์ทะเลผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ซึ่งพบมากในหอย

โดยจะสร้างสารพิษพวกไบโอท็อกซิน (Biotoxin) ที่ทนความร้อน ไม่สามารถทำลายได้ในกระบวนการปรุงอาหาร เมื่อกินเข้าไปจะทำให้มีอาการชาบริเวณปากและทำให้แน่นหน้าอก เคลื่อนไหวลำบาก บางรายมีอาการอาเจียนด้วย

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวว่า จากการตรวจวิเคราะห์น้ำทะเลตัวอย่าง 1 ลิตร พบขี้ปลาวาฬสูงถึง 40,000 เซลล์ และตรวจพบไบโอท็อกซินในปริมาณที่สูงมาก ส่วนใหญ่จะพบในหอยสองฝา เช่น หอยกะพง หอยนางรม ที่กินแพลงตอนทุกชนิด

โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีแพลงตอนชนิดนี้มากในน้ำทะเล โอกาสที่หอยนางรมเป็นพิษก็เกิดได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อนกินจึงควรนำไปแช่น้ำปูนใสเพื่อลดความเป็นพิษ หรืองดกินในช่วงนี้ก็จะเป็นการดี

ดร.นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในอาหารทะเลยังพบแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคท้องร่วงมากที่สุดคือ เชื้ออหิวาต์เทียม หรือ วิบริโอพารา ฮีโมไลติคัส (Vibrio Parahaemolyticus) ซึ่งเชื้อชนิดนี้สามารถพบได้ทั้งในน้ำทะเลและอาหารทะเล เช่น ปลา ปูม้า หอย กุ้ง กั้ง ปูทะเล และปลาหมึก เป็นต้น และยังพบในอาหารประเภทหอยแครงลวก ปลาดิบ ยำหอยนางรม ปูดอง หอยดอง

โดยพบเชื้อได้ทั้งปี แต่จะพบมากช่วงหน้าร้อน ในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งอาการที่ปรากฏชัด หลังจากกินเข้าไป 12-24 ชั่วโมง คือ ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง อาจมีอาการปวดศีรษะและหนาวสั่นร่วมด้วย

ดร.นพ.พรเทพ แนะนำว่า การเลือกกินหอยให้ปลอดภัยจากขี้ปลาวาฬในช่วงหน้าร้อน ผู้บริโภคจึงต้องหมั่นฟังข่าวจากสื่อต่างๆ ว่า มีขี้ปลาวาฬเกิดขึ้นในช่วงใด บริเวณใด ก็ควรงดกินในช่วงนั้น หรือให้เลือกกินอาหารทะเลที่สดและสะอาด มีการล้างน้ำทำความสะอาดทุกครั้งโดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่มีผิวเปลือกหรือกระดอง ทั้งนี้เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ปนเปื้อน สำหรับกุ้งถ้าจะเก็บให้เด็ดหัวทิ้งก่อนแช่แข็งจะช่วยลดแบคทีเรียได้ถึงร้อยละ 50 และที่สำคัญเพื่อความปลอดภัยต้องผ่านการปรุงสุกทุกครั้ง

แหล่งข้อมูล

  1. กิน 'หอยทะเล' หน้าร้อน มีขี้ปลาวาฬทำปากชา-แน่นหน้าอก http://www.thairath.co.th/content/412204 [2014, May 3].