กำเนิดลูกสี่ หนีโรคหัวใจ

ผลการวิจัยใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารด้านการมีลูกดกและเป็นหมัน (Fertility and Sterility) ฉบับเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ รายงานว่า สตรีที่ให้กำเนิดลูกอย่างน้อย 4 คนขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงลดลงเล็กน้อย จากการตายด้วยโรคหัวใจในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่ไม่เคยคลอดลูกเลย หลังจากการพิจารณาถึงผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆด้วย

การศึกษาในอดีต ได้ตรวจสอบผลกระทบของประวัติการคลอดลูก ต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ของผู้เป็นแม่หลังหมดประจำเดือน (Post-menopause) พบว่า แม่บางคนมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการตายด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และการคลอดลูก ในขณะที่การศึกษาอื่นๆ ได้ผลตรงกันข้าม [กล่าวคือ ความเสี่ยงดังกล่าวลดลง]

แต่ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ ทีมนักวิจัยได้ติดตามสตรีวัยกลางคน ในชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียเป็นเวลา 2 ทศวรรษ ในความพยายามที่จะประเมินผลกระทบของการคลอดลูก ต่อความเสี่ยงโรคหัวใจในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต ปรากฎว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของสตรีดังกล่าวตายระหว่างติดตามผล และเกือบครึ่งหนึ่งตายด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหัวใจเป็นปัจจัยหลักของการคร่าชีวิตสตรีในสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ตายมากกว่า 300,000 คนในแต่ละปี การศึกษาครั้งนี้ ได้รวมสตรีเกือบ 1,300 คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อเริ่มฝากครรภ์ครั้งแรก ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523) โดยที่สตรีดังกล่าวได้รับการสอบถามเกี่ยวกับประวัติการสืบพันธุ์ รวมทั้งจำนวนครั้งที่ตั้งครรภ์ ในช่วงอย่างน้อย 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวนทารกที่เธอให้กำเนิด ประวัติหลังหมดประจำเดือน และการบำบัดด้วยฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen)

สตรีที่มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ยังได้รับการสัมภาษณ์เพื่อกำหนดปัจจัยเสี่ยงแต่ละตัวสำหรับโรคหัวใจ โดยที่ถัวเฉลี่ยแล้ว สตรีดังกล่าวมีประวัติการตั้งครรภ์ 2 ครั้ง และให้กำเนิดทารกที่มีชีวิต แต่สตรีบางคนก็ ไม่ได้คลอดลูก และในจำนวนสตรีที่คลอดลูก มี 1 คน ซึ่งคลอดลูกถึง 13 คน

ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่า การให้กำเนิดทารกสามารถป้องกันการตายด้วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร ทีมนักวิจัยคาดเดาว่า สตรีที่แข็งแรงอาจมีลูกได้หลายคน หรือการมีฮอร์โมนเพศระดับสูงที่ยาวนาน และฮอร์โมนอื่นๆระหว่างตั้งครรภ์ อาจช่วยปกป้องหัวใจในช่วงเวลาต่อมาของชีวิต

นายแพทย์ Bradley Van Voorhis ประธานสโมสรวิทยาต่อมไร้ท่อเพื่อการสืบพันธุ์และการเป็นหมัน (Society for Reproductive Endocrinology and Infertility) กล่าวว่า ข้อจำกัดหลักของการศึกษาครั้งนี้อยู่ที่การรวมสตรีกลุ่มที่เข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีได้ง่าย และไม่มีแนวโน้มของน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน (Obese) การสูบบุหรี่จัด หรือวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเกี่ยวข้องการโรคหัวใจ จึงไม่อาจอนุมาน (Extrapolate) ได้ว่าเป็นจริงกับประชากรอื่นๆ หรือประชากรส่วนใหญ่

แหล่งข้อมูล:

  1. Childbirth May Cut Women's Heart Disease Risk. http://www.webmd.com/heart-disease/news/20111128/childbirth-may-cut-womens-heart-disease-risk [2011, December 1].