การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทจากยาเคมีบำบัด (Chemotherapy: Nervous system changes)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทจากเคมีบำบัดเกิดได้อย่างไร?

ยาเคมีบำบัด อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บเสียหายต่อเซลล์ระบบประสาทได้ โดยเฉพาะประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) ที่กำกับดูแลแขน ขา ดังนั้นเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด จึงอาจมีผลข้างเคียงจากการบาดเจ็บของประสาทต่างๆได้ เช่น ประสาทส่วนปลาย หรือ ประสาทหู ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นกับ ชนิด และปริมาณ (Dose) ของยาเคมีบำบัด เช่น ยาเคมีบำบัดในกลุ่ม Taxanes และ Platinum

ส่วนใหญ่ของอาการมักเกิดตั้งแต่ได้รับยาในครั้งแรก แต่อาการจะไม่รุนแรง อาการจะค่อยๆรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับยาในครั้งต่อๆไป ตามปริมาณของยาที่สะสมสูงขึ้น

อาการทางระบบประสาทเหล่านี้ อาจจะดีขึ้นได้ภายหลังครบยาเคมีบำบัดแล้วประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่บางอาการอาจคงอยู่ตลอดไป เช่น ผลต่อประสาทหูของยาในกลุ่ม Platinum ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีการได้ยินลดลงตลอดไป

เคมีบำบัดก่ออาการทางระบบประสาทอย่างไร?

 

อาการทางระบบประสาทที่อาจพบได้จากการได้รับยาเคมีบำบัด คือ

  • อาการคล้ายเป็นเหน็บชาที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า
  • อาการชาปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า
  • นิ้วมือ นิ้วเท้า รู้สึกน้อยลง
  • มือ/นิ้วทำงานซับซ้อนไม่ได้ เช่น ติดกระดุมเสื้อ
  • รู้สึก มือ เท้า เย็นง่าย เย็นกว่าปกติ
  • มือสั่น ตัวสั่น โดยไม่ได้เกิดจากอาการไข้ หรือ รู้สึกหนาว
  • แขน ขา อ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อย ล้า เป็นตะคริวบ่อย
  • การทรงตัวผิดปกติ ช้ากว่าปกติ
  • การได้ยินลดลง
  • ท้องผูก
  • มีอาการแสบร้อนกลางอก, อาการกรดไหลย้อน
  • เวียนศีรษะ (Dizziness)
  • หลงลืมง่าย

ป้องกันอาการทางระบบประสาทจากเคมีบำบัดอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันอาการทางระบบประสาทจากยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพชัดเจน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการทางระบบประสาทจากเคมีบำบัด? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์ เมื่อมีอาการทางระบบประสาทจากยาเคมีบำบัด ทั่วไป คือ

  • ปรึกษา แพทย์ พยาบาลทางเคมีบำบัด และปฏิบัติตามคำแนะนำ
  • เข้าใจ และยอมรับ เพื่อการปรับตัว และเพื่อการดูแลตนเอง
  • บอกเล่าอาการกับครอบครัว คนดูแล เพื่อการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเมาะสม
  • ระมัดระวังในการ ลุก นั่ง ยืน เดิน ใช้ราวเกาะ อาจต้องใช้ไม้เท้าช่วย
  • ระมัดระวังการใช้ของมีคมต่างๆ
  • ควรสวมรองเท้าเสมอรวมทั้งในบ้าน เป็นรองเท้าหัวปิด ไม่คับ อ่อนนุ่ม เพื่อป้องกันแผลที่เท้าเกิดโดยไม่รู้ตัว
  • สวมถุงมือยางในการทำงานสกปรกเสมอ เช่น ล้างจาน ทำสวน
  • กายภาพบำบัดตามแพทย์แนะนำ พยายามนวด เคลื่อนไหว และออกกำลัง นิ้ว มือ เท้า แขน ขา สม่ำเสมอ บ่อยๆ
  • ดูแลตนเองเรื่องท้องผูก
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้อาการมากขึ้น โดยเฉพาะการทรงตัว
  • สังเกตแผลต่างๆที่ มือ เท้า เสมอ เพื่อการดูแลรักษา ป้องกันการติดเชื้อ เพราะอาการชา จะส่งผลให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่ออาการต่างๆ แย่ลง
  • เมื่อกังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. https://www.cancer.net/coping-with-cancer/physical-emotional-and-social-effects-cancer/managing-physical-side-effects/nervous-system-side-effects   [2023,Jan7]
  3. https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/physical-side-effects/nervous-system/peripheral-neuropathy/what-is-peripherial-neuropathy.html  [2023,Jan7]
  4. https://www.kup.at/kup/pdf/9994.pdf  [2023,Jan7]
  5. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/types/chemotherapy#chemotherapy-can-cause-side-effects  [2023,Jan7]