การระบาดของ 'โรคเอดส์' ใกล้ยุติแล้ว (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นาย Michel Sidibé กรรมการบริหารของยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) กล่าวว่า เราสามารถพัฒนาไปได้เร็วกว่าเมื่อก่อนมาก และคาดว่าจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของยูเอ็นเอดส์ (ให้ทั่วโลกเข้าถึงการป้องกัน รักษา ดูแล โรคเอดส์) ได้ภายในปี พ.ศ.2558 นี้ รายงานข่าวกล่าวว่า การใช้ยาต้านไวรัสในการรักษานั้นสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ โดยในระยะ 24 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่เข้ารับการรักษาด้วยยามีเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 63

นาย Michel Sidibé กล่าวต่อไปว่า การลดการติดเชื้อในเด็กอาจจะประสบผลสำเร็จมากที่สุด ทั้งนี้เพราะครึ่งหนึ่งของการติดเชื้อที่ลดลงระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมามาจากเด็กเกิดใหม่ นั่นหมายความอัตราการติดเชื้อในเด็กอาจจะเป็นศูนย์ได้ในอนาคต

เอดส์ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้บริจาคเลือดหรืออวัยวะ ซึ่งไม่เคยสัมผัสโดยตรงกับผู้รับบริจาค ในหัตถการ (Procedure) เหล่านี้ แพทย์หรือพยาบาลมักใช้เข็มฉีดและเครื่องมือปลอดเชื้อ (Sterile needle and instruments) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื้อเอชไอวี อาจติดต่อไปยังผู้รับบริจาคเลือดหรืออวัยวะจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อ ในการลดความเสี่ยงนี้ จะมีโปรแกรมคัดกรองคลังเลือด (Blood bank) เนื้อเยื่อ (Tissue) และผู้บริจาคอวัยวะอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคเอดส์ได้โดยตรง อย่างไรก็ดีมีการใช้วิธีรักษาหลายๆ อย่าง เพื่อคุมอาการและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การใช้ยาต้านไวรัส (Antiretroviral drugs) เพื่อช่วยหยุดยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเฮชไอวีในร่างกาย หรือการใช้ยาต้านไวรัสหลายๆ ตัวรวมกัน (Highly active antiretroviral therapy = HAART) ได้ผลมากในการลดจำนวนเชื้อเฮชไอวีในเลือด ทั้งยังสามารถเพิ่มจำนวนทีเซลล์และช่วยเพิ่มภูมิต้านทานด้วย

แม้ว่าการรักษาแบบ HAART จะไม่ได้ช่วยรักษาการติดเชื้อเฮชไอวีทีเดียว แต่ก็เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เชื้อเฮชไอวีอาจดื้อยาได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับยาตามเวลาทุกวัน เมื่อเชื้อเฮชไอวีดื้อยาจาก HAART ชุดใด ก็ต้องเอาตัวยาอื่นมาแทนเป็นยา HAART ชุดใหม่ ซึ่งยาแต่ละอย่างก็ล้วนแต่มีผลข้างเคียง (Side effects) โดยอาการที่เกิดบ่อย ได้แก่

  • มีไขมันพอกที่หลังและคอ ("Buffalo hump") และที่ท้อง
  • ท้องเสีย (Diarrhea)
  • รู้สึกไม่สบาย (Malaise)
  • ปวดศีรษะ
  • อาการคลื่นไส้ (Nausea)
  • อ่อนเพลีย

และถ้าใช้ยาเป็นระยะเวลานานก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีอาการหัวใจวาย (Heart attack) ระดับคลอเรสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดสูง ดังนั้นแพทย์จึงต้องระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วย นอกจากนี้ควรมีการวัดระดับ CD4 และเชื้อเฮชไอวีทุก 3 เดือน เพื่อคุมให้จำนวน CD4 อยู่ในระดับปกติ และจำนวนเชื้อเฮชไอวีในเลือดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีอายุนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (อาทิ การใช้ถุงยางอนามัย) ได้ประสิทธิผลมากในการป้องกันการติดต่อของเชื้อเอชไอวี (HIV transmission) อย่างไรก็ตาม บางครั้งการใช้ถุงยางอนามัยก็ยังความเสี่ยงในการติดเชื้อ [อาทิ ถุงยางรั่วระหว่างมีเพศสัมพันธ์] ดังนั้นวิธีที่ปลอดภัยจริงๆ มีเพียงวิธีเดียว กล่าวคือละเว้น (Abstinence) การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์

แหล่งข้อมูล:

  1. UNAIDS reports a more than 50% drop in new HIV infections across 25 countries as countries approach the 1000 day deadline to achieve global AIDS targets. http://www.unaids.org/en/resources/presscentre/pressreleaseandstatementarchive/2012/november/20121120prresults/ [2012, December 3].
  2. AIDS. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0001620/ [2012, December 3].