ลมชัก:การปฐมพยาบาลผู้มีอาการชัก

การปฐมพยาบาลผู้มีอาการชัก

การปฐมพยาบาลผู้มีอาการชักนั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก เพราะผู้ช่วยเหลือส่วนใหญ่จะให้การปฐมพยาบาลผู้มีอาการชักไม่เหมาะสม เช่น การกดรัดแขน ขา การปั๊มหน้าอก การงัดปาก ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นการทำให้ผู้มีอากรชักได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นเรามาเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลผู้มีอาการชักที่ถูกต้อง ต่อไปนี้

  1. ตั้งสติให้ดี ไม่ตื่นเต้น ก่อนนอื่นต้องดูว่าผู้ที่มีอาการชักนั้นจะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น การสำลักอาหาร อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการชัก ดังนั้นต้องรีบนำผู้มีอาการชักให้ห่างไกลจากอันตราย เช่น จับนอนลงกับพื้น ให้ห่างจากถนน ของร้อน เตาไฟ สิ่งกีดขวางที่จะทำให้เกิดอันตรายจากการชักเกร็งกระตุกได้ ดูในปากว่ามีเศษอาหารหรือฟันปลอมที่จะทำให้สำลักได้หรือไม่ ถ้ามีก็นำออก
  2. จับผู้มีอาการนอนตะแคง หาวัสดุรองศีรษะ ป้องกันการสำลัก คลายเสื้อผ้าให้หลวม สังเกตุอาการชักอย่างละเอียด จับเวลาที่มีอาการผิดปกติ ถ้าสามารถบันทึกภาพได้ด้วยยิ่งดี
  3. ห้ามงัดปาก ห้ามกดแขน กดขา ห้ามปั๊มหน้าอก ยึดแขน ขา ห้ามเอาพริก มะนาวใส่ปากผู้มีอาการชัก ห้ามเอายาให้ทานในขณะที่ไม่รู้สึกตัว ห้ามคนมุงดูด้วย
  4. หลังจากหยุดชัก ให้ประเมินอาการดูว่ามีอันตรายอะไรที่เกิดขึ้นบ้าง คอยดูว่าฟื้นคืนสติดีหรือยัง ถ้ามีอุบัติเหตุที่รุนแรง หัวแตก แผลขนาดใหญ่ กระดูกหัก ข้อต่อเคลื่อนหลุด หรือไม่หยุดชัก ชักนานกว่าทุกครั้งที่เป็น หรือชักนานกว่า 5 นาที หรือหลังหยุดชัก แต่ก็ยังไม่ฟื้นคืนสติ ให้นำผู้มีอาการชักส่งโรงพยาบาล
  5. โปรดจำไว้ว่าโรคลมชักรักษาหายได้ การช่วยปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง คือ การตั้งสติให้ดี ป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย ห้ามงัดปาก กดปั๊มหน้าอก ห้ามกดยึดแขน ขา