การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ (Repetitive strain injury)

สารบัญ

บทนำ

ปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างกว้างขวางในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก วัย รุ่น วัยทำงาน และยังมีการใช้สมาร์ทโฟน (Smartphone) มากขึ้น คอมพิวเตอร์เหล่านี้ ทำให้ในแต่ละวันมีการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ เรียกว่า “การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ (Repetitive strain injury)” ลองติดตามดูจากบท ความนี้ จะได้หาวิธีป้องกันผลเสียที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆดังกล่าว

อนึ่ง ในบทความนี้ ขอเรียกย่อ การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆว่า “การบาดเจ็บซ้ำ ซากฯ”

การบาดเจ็บซ้ำซากฯคืออะไร?

การบาดเจ็บซ้ำซาก

การบาดเจ็บซ้ำซากจากงานซ้ำๆ (Repetitive strain injury หรือบางคนใช้คำว่า Repeti tive stress injury) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับบาดเจ็บสะสม (Cumulative trauma disorder ) ส่งผลทำให้อวัยวะต่างๆในระบบกล้ามเนื้อ, กระดูกและข้อ, และเส้นประสาท ที่ถูกใช้งานจนเกิดบาดเจ็บสะสม เกิดการเสื่อมหรืออักเสบ ส่งผลให้มีอาการผิดปกติได้ทุกส่วนของร่างกายที่ถูกใช้งานซ้ำซาก เช่น แขน ข้อมือ ข้อนิ้ว แผ่นหลัง ต้นคอ หัวไหล่ สายตา

สาเหตุเกิดบาดเจ็บซ้ำซากฯคืออะไร?

สาเหตุของการบาดเจ็บซ้ำซากฯที่พบบ่อย ได้แก่

  • การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
  • การยกของหนักผิดวิธี
  • การนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • การทำงานบางชนิดที่มีการสั่นสะเทือนของมือตลอดเวลา เช่น การขุดเจาะถนน การประกอบอาหาร ซักผ้าด้วยมือ การทำงานเย็บปักถักร้อย

กลไกการเกิดบาดเจ็บซ้ำซากฯคืออะไร?

กลไกการเกิดบาดเจ็บซ้ำซากฯ เกิดจากการที่ส่วนต่างๆของร่างกายได้รับการกระทบกระ เทือนซ้ำซาก อันเกิดจากการสะเทือนหรือกระแทกซ้ำๆ เช่น การที่ร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดอยู่ในท่าเดียวเป็นระยะเวลานานเกินความสามารถของร่างกาย หรือเกิดการใช้กล้ามเนื้อที่ไม่ถูกวิธี ซ้ำซาก จึงส่งผลให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บซ้ำๆ/ซ้ำซากขึ้น

การบาดเจ็บซ้ำซากฯพบเกิดที่ร่างกายส่วนใดบ้าง?

ร่างกายส่วนที่พบบ่อยที่มักเกิดการบาดเจ็บซ้ำซากฯ คือ

  • ข้อมือ เช่น โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)
  • ข้อศอก เช่น โรคการบาดเจ็บบริเวณข้อศอกของนักเทนนิส (Tennis elbow: Epicon dylitis)
  • ข้อไหล่ เช่น กลุ่มโรคเส้นเอ็นยึดหัวไหล่อักเสบ เช่น Rotator cuff และ Bicepital tendonitis, และ Shoulder capsulitis
  • คอ เช่น ปวดตึงต้นคอ
  • หลัง เช่น กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหลังเรื้อรัง เช่น กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อ เยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome), หมอนรองกระดูกเคลื่อน (ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง)

ปัจจัยก่อการบาดเจ็บซ้ำซากฯคืออะไร?

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำซากฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

  • ปัจจัยด้านตัวโรค เช่น โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือที่พบบ่อยในผู้หญิงมาก กว่าในผู้ชาย
  • ปัจจัยด้านผู้ป่วย เช่น
    • อายุ ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ จะมีโอกาสสูงที่เกิดโรค
    • เพศ ขึ้นอยู่กับโรค เช่น โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ ที่พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ ชาย
    • ระยะเวลาที่มีการบาดเจ็บซ้ำซาก ได้แก่ การทำงานในลักษณะแบบเดิมหรือซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้รับการรักษา หรือแก้ไขที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้มีการบาดเจ็บได้ง่าย และเป็นเหตุให้มีอาการที่รุนแรงมากขึ้น
    • การมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน หรือทานยาสเตียรอยด์ ก็ส่ง ผล ห้เกิดอาการบาดเจ็บซ้ำซากได้สูง
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ เช่น
    • ระบบการทำงาน เช่น ระบบการทำงานที่ไม่มีการควบคุมชั่วโมงการทำงาน มีการทำล่วงเวลามาก การไม่อนุญาตให้หยุดงานได้ กรณีมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย
    • หรือ การไม่มีมีอุปกรณ์ช่วยเหลือหรือป้องกันอุบัติภัยในการทำงาน เช่น อุปกรณ์พยุงหลังสำ หรับผู้ที่ทำหน้าที่ยกของหนัก หรือ รถเข็นของหนักด้วยระบบไฟฟ้า เพื่อลดแรงของผู้เข็น เป็นต้น

อาการจากบาดเจ็บซ้ำซากฯเป็นอย่างไร?

อาการพบบ่อยจากการบาดเจ็บซ้ำซากฯ ได้แก่

  • อาการเมื่อยล้า
  • เจ็บปวดบริเวณส่วนต่างๆของร่างกายที่กล่าวมาข้างต้น
  • อาการชา หรือปวดร้าวตามเส้นประสาท หรือกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทำงานซ้ำๆ/ซ้ำซาก
  • อาการปวดศีรษะ ตาพร่า/ตามัว เวลาเพ่ง ใช้สายตานาน

อาการแบบไหนที่ต้องพบแพทย์?

อาการจากการบาดเจ็บซ้ำซากฯที่พบได้ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะแรก ระยะ 1 เป็นแล้วหายได้เองเวลาพัก
  • ระยะ 2 มีอาการต่อเนื่องเวลาทำงาน ต่อเนื่องถึงกลางคืนหลังเลิกงาน ตอนเช้าหายดี
  • ระยะ 3 มีอาการตลอดเวลา พักก็ไม่หาย เช้าก็มีอาการ

ทั้งนี้ ควรพบแพทย์ เมื่อมีอาการตั้งแต่ระยะที่ 2 และควรเริ่มหาวิธีป้องกันตนเอง ตั้งแต่เมื่อมีอาการในระยะแรก

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีอาการจากบาดเจ็บซ้ำซากฯ?

การวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยมีอาการจากการบาดเจ็บซ้ำซากฯ ใช้ข้อมูลจากประวัติอาการ ประวัติการทำงาน และผลการตรวจร่างกาย โดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติม

การรักษาอาการบาดเจ็บซ้ำซากฯทำอย่างไร?

การรักษาอาการจากการบาดเจ็บซ้ำซากฯ ได้แก่

  • การพักหรือหยุดการทำกิจกรรมนั้นเป็นระยะๆ
  • การนวดกล้ามเนื้อผ่อนคลาย
  • การฝึกการใช้กล้ามเนื้อ ท่าทางการนั่งทำงานให้ถูกวิธี
  • การใช้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ เฉพาะกรณีจำเป็น
  • การจัดสถานที่ สภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม เช่น แสงสว่าง ความสูงต่ำของเก้าอี้ โต๊ะทำงาน อุปกรณ์ป้องกันกล้ามเนื้อหลังบาดเจ็บ และอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำกายภาพบำบัดอวัยวะส่วนที่ต้องทำงานซ้ำซากสม่ำเสมอ

การพยากรณ์โรคของอาการบาดเจ็บซ้ำซากฯเป็นอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของอาการบาดเจ็บซ้ำซากฯ ขึ้นกับการได้รับการดูแลรักษา

ถ้าได้รับการรักษาดูแล แก้ไขตั้งแต่ในระยะแรกหรือระยะที่ 2 อาการมักหายได้ภายใน 3-6 เดือน

แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา ดูแล แก้ไข หรือรักษาไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลเสีย/ผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น การบาดเจ็บเรื้อรังของกล้ามเนื้อและของเส้นประสาท ซึ่งก่ออาการปวดเรื้อรังทั้งการปวดกล้ามเนื้อและปวดเส้นประสาท ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี การขาดงานอาจมากขึ้น และมักมีผลต่อสุขภาพจิต

ควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อมีอาการจากการบาดเจ็บซ้ำซากฯในระยะที่ 1 นั้น ผู้มีอาการควรต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น โดยการดูว่า แนวทางที่ถูกต้องในการทำงานนั้นๆคืออะไร เพื่อที่จะได้ปรับวิธีการทำงานให้ถูกต้อง เช่น ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ควรดูแลให้ถูกต้องเหมาะสมในเรื่องของ การจัดที่ตั้งคอมพิวเตอร์ การจัดโต๊ะและเก้าอี้ที่นั่งทำงาน การพักการใช้ข้อมือและสายตาเป็นระยะๆ เป็นต้น

เมื่อปรับตนเองและสภาพการทำงานแล้ว อาการยังคงอยู่ ก็ควรพบแพทย์ และปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ อาจต้องร่วมกับการทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องที่ทำงาน และ/หรือที่บ้าน ขึ้นกับคำ แนะนำของแพทย์ และของนักกายภาพบำบัด และ

กรณีอาการผิดปกตินั้นรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการผิดปกติใหม่ๆเกิดขึ้น หรือเมื่อกังวลในอาการ ก็ควรพบแพทย์ก่อนนัด

ป้องกันอาการบาดเจ็บซ้ำซากฯได้อย่างไร?

การป้องกันอาการบาดเจ็บซ้ำซากฯ เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในหัวข้อ การดูแลตนเอง ที่สำคัญ คือ ต้องเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องในการทำงาน และในการใช้อุปกรณ์ที่เป็นต้นเหตุ ในที่นี้ ขอยกตัวอย่าง เป็นการใช้งานคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นต้นเหตุที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งการใช้งานคอม ฯอย่างถูกต้อง คือ

  • การใช้เมาส์ที่มีแผ่นรองแบบมีเบาะรองข้อมือ
  • ควรหยุดพักหรือเปลี่ยนท่าทางทุกๆครึ่งชั่วโมง
  • ไม่ควรใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์นานมากกว่า 5 ชั่วโมง/วัน
  • มีท่าทางในการนั่งที่ถูกต้อง คือ หลังตรง ก้มหน้าเล็กน้อยเมื่อมองจอ
  • โต๊ะวางคอมฯกับเก้าอี้ ต้องได้ระดับในท่าปกติของข้อไหล่ในขณะนั่งทำงาน
  • มีแสงสว่างในการทำงานที่เพียงพอ