กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ (GABA reuptake inhibitor/GRI)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารกาบา(GABA) หรือกรดแกมมา-อะมิโนบิวทีริก (Gamma-aminobutyric acid)เป็นสารสื่อประสาทที่คอยทำหน้าที่ปิดกั้นคำสั่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทใน สมอง การมีปริมาณสารกาบาในสมองต่ำเกินไป จะทำให้การปิดกั้นกระแสประสาททำได้ ไม่ดี และส่งผลต่อสภาพอารมณ์และจิตใจ จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีอาการ วิตกกังวล นอนไม่หลับ เกิดอาการชัก หรือมีอาการปวดอย่างเรื้อรัง การแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าว แพทย์อาจสั่งจ่ายยาในกลุ่มกาบาให้กับผู้ป่วยเพื่อช่วยปรับสภาพจิตใจให้รู้สึกดีขึ้น ลดความวิตกกังวล ลดปัญหาเรื่องการนอนหลับ นอกจากนี้ กาบา ยังถูกนำไปใช้บำบัดอาการก่อนมีประจำเดือน(Premenstrual syndrome) และอาการสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder) การออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทประเภทกาบานั้น จะต้องพึ่งพาโมเลกุลของโปรตีนบางประเภทที่อยู่ด้านนอกของผนังเซลล์ประสาทหรือที่เรียกกันว่าตัวรับกาบา/กาบา รีเซปเตอร์(GABA receptor) ซึ่งมีถึง 3 ชนิด คือ GABAA , GABAB, และ GABAC receptor

สำหรับ ยากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ (GABA reuptake inhibitor เขียนย่อว่า GRI) เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดสารสื่อประสาทกาบากลับเข้าเซลล์ประสาท ทำให้สารกาบาในบริเวณรอยต่อของเซลล์ประสาทมีปริมาณเพิ่มขึ้น เป็นผลให้เกิดฤทธิ์ปิดกั้นการส่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ในสมองด้วยกัน รวมถึงกระแสประสาทที่ไปกระตุ้นกล้ามเนื้อ ทางการแพทย์ได้ใช้กลไกดังกล่าวมาก่อให้เกิดประโยชน์ทางคลินิกโดยใช้เป็น ยาป้องกันอาการชัก/ ยากันชัก ยาลดความวิตกกังวล ยาลดอาการตื่นตระหนก ช่วยให้นอนหลับ ทำให้กล้ามเนื้อลายผ่อนคลายไม่เกร็งตัวส่งผลบรรเทาอาการปวดโดยเฉพาะการปวดในลักษณะเรื้อรัง

อย่างไรก็ตามการได้รับยากลุ่ม GRI ก็สามารถเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง)ได้หลายประการ เช่น วิงเวียน ง่วงนอน เห็นภาพซ้อน หนังตากระตุก มีเสียงแว่วในหู ซึม หรือแม้แต่เกิดภาพหลอน เป็นต้น

*กรณีที่ได้รับยา GRI เกินขนาด จะทำให้เซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้มีความบกพร่อง ทำให้ความจำถดถอย น้ำลายไหลมาก ขนลุก กระสับกระส่าย มึนงง เสียสติ เกิดอาการชัก หายใจขัด/หายใจลำบาก ตลอดจนกระทั่งเกิดอาการโคม่า สมองได้รับความเสียหาย และอาจเสียชีวิตในที่สุด

กลุ่มยาGRI ที่มีการศึกษาวิจัยมีอยู่หลายรายการ เช่น Deramciclane, Gabaculine, Guvacine, Nipecotic acid, Hyperforin และ Tiagabine ยาที่กล่าวมานี้มีเพียง Tiagabine ตัวเดียวที่มีการจัดจำหน่าย ขณะที่ยารายการอื่นถูกยกเลิกหรือยังต้องรอผลการวิจัยอีกสักระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ขณะที่ได้รับยากลุ่มGRI ยังมีข้อควรปฏิบัติที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้ เช่น

  • ต้องใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดการใช้ยาโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ด้วยจะทำให้ อาการโรคกลับมากำเริบ
  • ในระหว่างที่ได้รับยากลุ่มนี้ แล้วมีอาการวิงเวียนให้หลีกเลี่ยงการทำงานกับ เครื่องจักรหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • กลุ่มยาGRI สามารถใช้บำบัดและป้องกันอาการชัก (Seizure) ก็จริง หากผู้ป่วย ที่ได้รับยาGRI แล้วปรากฏว่ายังมีอาการชักเกิดขึ้นอีก ควรต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบ แพทย์/มาโรงพยาบาลโยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • การได้รับ GRI แล้วทำให้อาการโรคหายเหมือนเป็นปกติ ผู้ป่วยยังคงต้องได้รับ ยากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยานี้
  • กรณีเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่ม GRI บางประการ ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบ แพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เพื่อปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น เกิดภาวะสูญเสียสมดุลการเคลื่อนไหวของร่างกาย รู้สึกสับสน มองเห็นสีสันผิดเพี้ยน ง่วงนอนมาก พูดไม่ชัด เดินไม่ได้ หรือเดินแล้วมีอาการเซ หรือเกิดผื่นคันตามผิวหนัง เป็นต้น
  • ผู้ที่ได้รับกลุ่มยา GRI อาจมีพฤติกรรมปรับเปลี่ยน เช่น มีอารมณ์อยากทำร้าย ตนเอง หากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

กลุ่มยา GRI จัดว่าเป็นยาอันตราย มีข้อจำกัดปลีกย่อยหลายประการ การใช้ยากลุ่มนี้ ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย จึงต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์แต่ผู้เดียว

กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

กาบารีอัพเทคอินฮิบิเตอร์

ยากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการชัก
  • ช่วยคลายความวิตกกังวล ลดอาการตื่นตระหนก
  • ใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวดแบบเรื้อรัง

กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยา GRI มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะปิดกั้นการดูดกลับสารสื่อประสาท กาบา เข้าสู่เซลล์ประสาท ส่งผลทำให้สารสื่อประสาทกาบาระหว่างรอยต่อของปลายประสาทมีปริมาณมากขึ้น สารกาบาจะเข้าจับกับตัวรับได้ 3 ชนิด คือ GABAA, GABAB, และ GABAC receptor สารสื่อกาบาที่เข้าจับกับตัวรับชนิด GABAA และ GABAC receptor จะกระตุ้นให้อิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ที่มีประจุลบอย่างคลอไรด์ไอออน(Chloride ion)ถูกดึงดูดเข้าในเซลล์ประสาท ขณะที่สารกาบาที่เข้าจับกับ GABAB receptor จะทำให้อิเล็กโทรไลต์ที่มีประจุบวกอย่างโปแตสเซียมไอออน(Potassium ion)ถูกปลดปล่อยจากปลายประสาทออกมาอยู่นอกเซลล์ประสาทมากกว่าปกติ จากกลไกทั้ง 2 แบบ ทำให้ภายนอกเซลล์ประสาทมีความต่างศักย์ไฟฟ้าเป็นขั้วบวก เราเรียกว่าเกิด “ภาวะไฮเปอร์โพลาไรเซชั่น (Hyperpolarization)” ทำให้การตอบสนองของเซลล์ประสาทลดลงซึ่งส่งผลลดการกระตุ้นอาการชักของสมอง ช่วยลดภาวะวิตกกังวล และอาการตื่นตระหนกได้ตามสรรพคุณ

กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน

กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ขนาดรับประทานหรือการบริหารยา/ใช้ยากลุ่มกาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลการตรวจสภาพร่างกายผู้ป่วยมาประกอบเพื่อเลือกใช้ยานี้ได้ตรงตามอาการโรคและมีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา GRI ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มกาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มกาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาGRI สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน มีภาวะลมหลับ ตัวสั่น การครองสติลำบาก นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เกิดแผลในช่องปาก
  • ผลต่อการมองเห็น/ผลต่อตา: เช่น ความชัดเจนของการมองเห็นลดลง ตาพร่า เห็นภาพซ้อน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีผื่นคัน รวมถึง มีภาวะStevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีอาการท่อปัสสาวะอักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ การทรงตัวทำได้ไม่ดี เกิดอัมพาต
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดน้อย/เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ก้าวร้าว โกรธง่าย กระสับกระส่าย ซึมเศร้า เกิดประสาทหลอน

มีข้อควรระวังการใช้กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • หากใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยา เช่น มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว มีอาการบวมตามร่างกาย แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มกาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มGRI ร่วมกับ ยากลุ่มOpioids จะเพิ่มฤทธิ์กดสมอง ส่งผลทำให้หายใจขัด มีอาการโคม่า และอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มGRI ร่วมกับ ยา Sodium oxybate ด้วยเสี่ยงต่อฤทธิ์กด สมอง และเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น หายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะหลับลึก ตลอดจนมีอาการโคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุด
  • การใช้ยากลุ่มGRI ร่วมกับยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ (Antihistamine) จะทำให้ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ยากมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยากลุ่มGRI ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้มีอาการวิงเวียนและง่วงนอนอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยากลุ่มกาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยา ในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

กาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากาบา รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Gabitril (กาบิทริล)Cephalon, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Gamma-Aminobutyric_acid [2018,Feb10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/GABA_reuptake_inhibitor [2018,Feb10]
  3. https://www.drugs.com/cdi/tiagabine.html [2018,Feb10]
  4. https://www.youtube.com/watch?v=MRr6Ov2Uyc4 [2018,Feb10]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/buprenorphine-with-gabitril-438-0-2191-1438.html [2018,Feb10]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/gabitril-with-xyrem-2191-1438-2091-10778.html?professional=1 [2018,Feb10]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/40-winks-with-gabitril-896-3385-2191-1438.html [2018,Feb10]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/gabitril-with-ibudone-2191-1438-1273-12462.html [2018,Feb10]