“กากอุตสาหกรรม” ตัวขยะเจ้าปัญหา? (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า สำหรับผลการตรวจสุขภาพเบื้องต้น ประชาชนที่อาศัยโดยรอบบ่อกำจัด “กากอุตสาหกรรม” (Industrial waste) ในปี พ.ศ. 2553 และปี พ.ศ. 2554 พบว่ามีความเสี่ยงจากสารพิษร้อยละ 8 และมีภาวะเครียดร้อยละ 1 ดังนั้น มาตรการแก้ไขในปี 2555 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนดำเนินการจัดตั้งศูนย์ตรวจรักษาโรคด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสระบุรี ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้บริการประชาชนทั้ง 3 ตำบล ซึ่งครอบคลุมประมาณ 5,000 ครัวเรือน

“อาชีวเวชศาสตร์” (Occupational medicine) เป็นศาสตร์การแพทย์แขนงหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการดูแลสุขภาพของคนทำงาน “นักอาชีวเวชศาสตร์” เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลให้มาตราฐานด้านสุขภาพและความปลอดภัย เพื่อให้คนทำงานปฏิบัติและดำรงอยู่อย่างดีที่สุด โดยเน้นการป้องกันโรค การรักษาโรค การบาดเจ็บ หรือการทุพพลภาพที่เกิดจากการทำงาน ปัจจุบัน “อาชีวเวชศาสตร์” มีขอบเขตของเนื้อหาวิชาการที่ครอบคลุมถึง

  • โรคที่เป็นผลจากการทำงาน เช่น โรคปอด โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคผิวหนัง โรคมะเร็ง โรคตา โรคของระบบสืบพันธุ์ โรคระบบประสาท เป็นต้น
  • โรคจากสิ่งคุกคามทางกายภาพ เช่น เสียงดัง ความสั่นสะเทือน รังสี ความกดอากาศ
  • โรคจากพิษของสารเคมี เช่น เบนซีน โทลูอีน ไซลีน และโรคจากสารโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมี่ยม
  • โรคติดเชื้อจากการทำงาน
  • โรคจากปัญหาการจัดท่าทางในการทำงาน และการใช้วิชาการยศาสตร์ (Ergonomic) ในการแก้ไขปัญหา
  • โรคจากปัญหาทางจิตสังคมในที่ทำงาน การทำงานเป็นกะ (Shift work) ยามดึก การทำงานผิดเวลา
  • การตรวจสุขภาพคนทำงาน เช่น การตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน การตรวจสุขภาพประจำปี
  • การดูแลผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) และ การประเมินความพร้อมในการทำงาน (Fitness for work)
  • การจัดโปรแกรมดูแลสุขภาพคนทำงาน
  • การวิจัยเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ใหม่

“อาชีวเวชศาสตร์” เป็นแขนงหนึ่งของวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive medicine) แพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เรียกว่า “แพทย์อาชีวเวชศาสตร์” ซึ่งจะต้องมีความรู้ที่นอกเหนือจากความรู้ด้านการรักษาดังนี้

  • ความรู้ด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางคลินิก
  • กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม
  • เรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม (Environmental Health)
  • ความรู้และทักษะเรื่องความพร้อมในการทำงาน (Fitness for Work) และการดูแลผู้ป่วยกลับเข้าทำงานได้อย่างเหมาะสม (Return to Work)
  • เรื่องพิษวิทยา (Toxicology)
  • ความรู้ในเรื่อง การตระหนักรู้ การประเมิน และการควบคุมสิ่งคุกคามต่างๆ
  • ความรู้เรื่องการเตรียมความพร้อมและการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉิน
  • เรื่องผลิตภาพและสุขภาพ
  • เรื่องการสาธารณสุข การเฝ้าระวัง และการป้องกันโรค และ
  • เรื่องงานด้านการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม

แหล่งข้อมูล:

  1. รมช.สาธารณสุขตรวจเยี่ยมจุดให้บริการตรวจสุขภาพ ปชช.พื้นที่สระบุรี http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000058272 [2012, May 23].
  2. Occupational Medicine. http://en.wikipedia.org/wiki/Occupational_medicine [2012, May 23].
  3. อาชีวเวชศาสตร์ http://th.wikipedia.org/wiki/อาชีวเวชศาสตร์ [2012, May 23].