“กากอุตสาหกรรม” ตัวขยะเจ้าปัญหา? (ตอนที่ 1)

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยทีมงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดให้บริการตรวจสุขภาพประชาชน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแห้ง จังหวัดสระบุรี และติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพจากบ่อกำจัดกากอุตสาหกรรมของบริษัท แบตเตอร์เวิร์ลกรีน จำกัด

คำว่า “กากอุตสาหกรรม” (Industrial waste) เป็น “ขยะ” ชนิดหนึ่งที่ได้จากกิจการอุตสาหกรรม เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงสี และ เหมืองแร่ เริ่มมีขึ้นตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial revolution) กากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายและมีพิษ มีการควบคุมบังคับโดยมีบทลงโทษและค่าปรับในกรณีที่มีการฝ่าฝืน

[ส่วนคำว่า “ขยะ หรือ กาก” (Waste) หมายถึงวัสดุที่มิใช่ผลิตภัณฑ์หลัก (Prime products) ซึ่งผลิตเพื่อขายในตลาด และผู้ให้กำเนิด (Generator) มิได้ใช้สอยไปมากกกว่านี้ ตามจุดประสงค์ดั้งเดิมในการผลิต แปรรูป หรือบริโภค แล้วต้องการกำจัดทิ้ง (Dispose) ขยะนี้อาจถูกผลิตขึ้นระหว่างการนำวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นสินค้าระหว่างผลิต หรือสินค้าสำเร็จรูป การบริโภคสินค้าสำเร็จรูป และกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ส่วนที่เหลือ (Residual) อาจถูกนำไปใช้ใหม่ (Reuse) หรือหมุนเวียน (Recycle) ณ จุดกำเนิด]

อุตสาหกรรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามกฏระเบียบ และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากไม่ต้องการมีต้นทุนเพิ่มจากค่าใช้จ่ายในการจัดการกับ “กากอุตสาหกรรม” จึงเลือกใช้บริการ “การจัดการของเสีย” (Waste management) ที่ด้อยคุณภาพ เช่น การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมลงแม่น้ำลำคลองโดยไม่บำบัดก่อน ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากสารอันตราย (Hazardous substance)

“การจัดการของเสีย” เป็นการเก็บรวบรวม ขนย้าย จัดการหรือกำจัดสิ่งของที่ทิ้งแล้ว ซึ่งมักเป็นของที่มนุษย์ทำให้เกิดมีขึ้น โดยการจัดการดังกล่าวช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อม หรือเพื่อสุนทรียภาพ การจัดการของเสียนั้น ปฏิบัติได้กับวัตถุทุกชนิด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว ก๊าซ หรือสารกัมมันตภาพรังสี โดยพยายามหาวิธีในการกำจัดที่แตกต่างกันไปเพื่อลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

“การจัดการของเสีย” จะปฏิบัติแตกต่างกันไประหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา [หรือด้อยพัฒนา] ตัวอย่างเช่น มีการประเมินกันว่า ประเทศไทยมี “กากอุตสาหกรรม” ปีละประมาณ 15 ล้านตัน แต่มีเพียง 400,000 ตัน เท่านั้นที่มี “การจัดการของเสีย” ที่ถูกต้อง ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า การบังคับตามกฏหมายของไทยไม่มีประสิทธิภาพพอ โดยเฉพาะโรงงานที่มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากหลายปัจจัยรวมถึงการขาดบุคลากรและเงินทุน

นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนนี้ ได้สั่งการให้กรมอนามัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบบ่อกำจัด “กากอุตสาหกรรม” ดังกล่าวซึ่งมี 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองปลาไหล ตำบลกุดนกเปล้า อำเภอเมือง และตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย ซึ่งมีประชากรที่มีความเสี่ยงอยู่ประมาณ 10,000 คน

กระทรวงสาธารณสุข ยังได้มีคำสั่งให้ศึกษาการแพร่กระจายของสารเคมี หรือสารพิษที่อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำ บริโภค โดยกรมอนามัยได้เก็บตัวอย่างน้ำเมื่อเร็วๆ นี้ ไปทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำ (ซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 2–3 สัปดาห์) จาก 4 แหล่ง อันได้แก่

  1. น้ำประปาหรือน้ำบาดาล
  2. น้ำจากแม่น้ำลำคลอง
  3. น้ำจากบ่อน้ำที่ขุดไว้ และ
  4. น้ำฝนที่รองเก็บไว้

แหล่งข้อมูล:

  1. รมช.สาธารณสุขตรวจเยี่ยมจุดให้บริการตรวจสุขภาพ ปชช.พื้นที่สระบุรี http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000058272 [2012, May 21].
  2. Industrial waste. http://en.wikipedia.org/wiki/Industrial_waste [2012, May 21].
  3. Thailand's industrial waste disposal is 'sub-standard' http://www.nationmultimedia.com/2009/07/07/business/business_30106811.php [2012, May 21].
  4. Waste management. http://en.wikipedia.org/wiki/Waste_management [2012, May 21].