กลูคากอน (Glucagon)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลูคากอน (Glucagon) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกายมนุษย์ผลิตจากเซลล์ที่อยู่ในตับอ่อน ชนิดที่มีชื่อเรียกว่า แอลฟาเซลล์ (Alpha cells) ฮอร์โมนชนิดนี้จะทำหน้าที่ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในกระแสเลือด หรือจะกล่าวว่าฮอร์โมนกลูคากอนมีการออกฤทธิ์ตรงกันข้ามกับฮอร์ โมนอินซูลิน (Insulin) ที่คอยลดน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดนั่นเอง โดยปกติฮอร์โมนกลูคากอนจะหลั่งออกมาเมื่อระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดลดต่ำลงมามากโดยฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคาร์โบไฮเดรตซึ่งสะสมอยู่ในตับที่เรียกว่า ไกลโคเจน (Glycogen) ให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคสและหลั่งออกมาปรับสมดุลน้ำตาลในกระแสเลือด

ปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์และผลิตฮอร์โมนกลูคากอนเพื่อใช้เป็นยาบำบัดรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยตัวยาจะมีรูปแบบเป็นยาฉีด ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุให้ยากลูคากอนอยู่ในรายการยาขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย

ทั้งนี้ประโยชน์ทางคลินิกของยากลูคากอนสามารถสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้เช่น

  • บำบัดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ ใช้กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติและไม่สามารถบริโภคน้ำตาลกลูโคสได้ กรณีผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่แพทย์จะฉีดกลูคากอนขนาด 1 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้าใต้ผิวหนังเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างกลูโคสออกมาในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว
  • บำบัดอาการของผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) เกินขนาด
  • บำบัดอาการแพ้อย่างรุนแรงอย่างเช่น ผู้ที่แพ้ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) และไม่ตอบ สนองต่อการรักษาด้วยยาอีพิเนฟรีน (Epinephrine) กรณีนี้ แพทย์อาจใช้ยากลูคากอนฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blocker) ของผู้ป่วย
  • บำบัดภาวะอาหารติดค้างที่หลอดอาหารส่วนล่าง (Impacted food bolus/steakhouse syndrome) โดยยานี้จะกระตุ้นให้เกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนเพื่อไล่อาหารที่ค้างอยู่ในหลอดอาหารให้อาเจียนออก มา

ทางคลินิกเราจะพบเห็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ของยากลูคากอนเป็นยาชนิดฉีดซึ่งมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น หากผู้ป่วย/ผู้บริโภคมีคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับยานี้ก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้

หมายเหตุ: สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ร่างกายผลิตหรือหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนออกมานั้นพอจะสรุปได้ดังนี้

  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือมีการเพิ่มปริมาณของสารบางตัวในร่างกายที่ทำให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างเช่น Epinephrine, Arginine, Alanine, Acetylcholine และ Cholecystokinin ล้วนแล้วจะทำให้เกิดการหลั่งกลูคากอนออกมามากขึ้น
  • อาการป่วยด้วยเนื้องอกบางชนิดของตับอ่อนที่เป็นเนื้องอกชนิดหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนได้ ซึ่งพบเนื้องอกกลุ่มนี้ได้น้อยมากๆเช่น เนื้องอก Glucagonoma

ในทางตรงกันข้ามหากในร่างกายมีสารเคมีบางอย่างเพิ่มขึ้นจากมีภาวะผิดปกติต่างๆเช่น Somatostatin, Insulin, กรดไขมัน (Fatty acids), กรดคีโต (Keto acids) หรือยูเรีย สารเหล่านี้จะยับยั้งมิให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนกลูคากอนออกมา

กลูคากอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

กลูคากอน

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยากลูคากอนเฉพาะที่พบเห็นการใช้บ่อยๆเท่านั้นได้แก่

  • เพื่อบำบัดรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ใช้ช่วยในการตรวจภาพระบบทางเดินอาหารด้วยเทคนิคทางรังสีวินิจฉัย (Diagnostic aid in radiologic examination of Gastrointestinal tract) โดยยานี้จะทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ลดลง แพทย์จึงสามารถตรวจพบพยาธิสภาพของกระเพาะอาหาร/ลำไส้ได้แม่นยำขึ้น

กลูคากอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลูคากอนได้แก่

ก. เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด: โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อเรียกว่า Glucagon receptor และ G protein-coupled receptor จากนั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางเคมีอีกหลายขั้นตอนจนสิ้นสุดที่กระบวนการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตชนิด Glycogen ไปเป็นน้ำตาลกลูโคส

ข. กลไกการช่วยวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ด้วยเทคนิคทางรังสีวินิจฉัย: แพทย์จะใช้ฤทธิ์บางประการของยากลูคากอนคือ ฤทธิ์ที่เป็นสารประเภท Anticholinergic agent คือสารที่ยับยั้งการเคลื่อนตัวหรือการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ จึงช่วยให้การตรวจภาพอวัยวะดังกล่าวทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น

กลูคากอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลูคากอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 1 มิลลิกรัม/ขวด

กลูคากอนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยากลูคากอนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. สำหรับบำบัดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ: *ต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นโดยเป็นการ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้าใต้ผิวหนัง

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1 มิลลิกรัม กรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัมลงมาแพทย์จะลดขนาดฉีดยาลงมาเป็น 0.5 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนลงมา: ฉีดยาขนาด 0.02 - 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุมากกว่า 1 เดือนที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม: ฉีดยา 0.5 มิลลิกรัมหรือคำนวณในขนาด 20 - 30 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กอายุมากกว่า 1 เดือนที่มีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัมขึ้นไป: ฉีดยาขนาด 1 มิลลิกรัม

ข. สำหรับช่วยวินิจฉัยโรคทางเดินอาหารด้วยเทคนิคทางรังสีวินิจฉัย:

  • ผู้ใหญ่: กรณีตรวจสอบกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.25 - 2 มิลลิกรัม หรือฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1 - 2 มิลลิกรัม, กรณีตรวจสอบลำไส้ใหญ่ฉีดยา 2 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ

อนึ่งหลังฉีดยานี้เป็นเวลาประมาณ 10 นาทีแล้วจึงทำหัตถการในการตรวจต่อไป

  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกของขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากลูคากอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มากขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลูคากอนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

กลูคากอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลูคากอนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น อาจพบอาการคล้ายน้ำตาลในเลือดต่ำ

*กรณีที่มีอาการแพ้ยานี้: อาจพบเห็นอาการเกิดลมพิษ หายใจลำบาก และมีอาการความดันโลหิตต่ำ ซึ่งควรรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันทีที่มีอาการ โดยแพทย์จะให้การรักษาที่เป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ

มีข้อควรระวังการใช้กลูคากอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลูคากอนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลูคากอน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรค Pheochromocytoma ด้วยจะเกิดความเสี่ยงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นมาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มเนื้องอกของตับอ่อนชนิดที่สร้างฮอร์โมนต่างๆได้ซึ่งเป็นเนื้องอก กลุ่มที่พบได้น้อยมากๆเช่น เนื้องอกชนิด Insulinoma และชนิด Glucagonoma ด้วยจะเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติมาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนลงในขวดบรรจุยาเช่น ฝุ่นผงต่างๆ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจด้วยตัวยาอาจทำให้ความดันโลหิตและการเต้นของชีพจรสูงขึ้น
  • เมื่อเปิดขวดยานี้ควรใช้กับผู้ป่วยทันที
  • ขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
  • หลังการใช้ยานี้ควรตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบการทำงานของเกล็ดเลือดว่าเป็นปกติหรือไม่ ด้วยยากลูคากอนมีลักษณะการออกฤทธิ์ที่อาจลดการทำงานของเกล็ดเลือด/ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant effect) อยู่ด้วยที่จะทำให้มีเลือดออกได้ง่าย
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลูคากอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

กลูคากอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยากลูคากอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลูคากอนร่วมกับยา Indomethacin ด้วย ยาIndomethacin สามารถลดฤทธิ์การรักษาของยากลูคากอน
  • การใช้ยากลูคากอนร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้ยา Warfarin ออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้นจนเกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษากลูคากอนอย่างไร?

ควรเก็บยากลูคากอนในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยา ในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้น มือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กลูคากอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลูคากอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
GlucaGen (กลูคาเจน)Novo Nordisk

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Glucagon [2016,June4]
  2. http://www.medicinenet.com/glucagon/page2.html [2016,June4]
  3. http://www.drugs.com/pro/glucagon.html [2016,June4]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/glucagon/?type=brief&mtype=generic [2016,June4]
  5. http://pi.lilly.com/us/rglucagon-pi.pdf [2016,June4]
  6. http://www.drugs.com/pro/glucagen.html [2016,June4]
  7. http://www.drugs.com/dosage/glucagon.html [2016,June4]
  8. http://www.drugs.com/drug-interactions/glucagon-index.html?filter=2&generic_only= [2016,June4]