กลุ่มเสี่ยงหน้าหนาว: เรื่องราวของผู้สูงอายุ

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ภัยหนาว จึงได้แนะนำการป้องกันโรคภัยที่พบได้บ่อย รวมถึงการเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากภัยหนาว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย 3 กลุ่ม จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อันได้แก่ (1) เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (2) ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และ (3) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ผู้สูงอายุ (Old age) หมายถึงกลุ่มผู้มีอายุใกล้ หรือเลยช่วงอายุเฉลี่ยของมนุษย์ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของวงจรชีวิต (Life cycle) ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในเรื่องความสามารถในการสร้างใหม่ของเซลล์ต่างๆของร่างกาย (Regeneration) [หลังการเสื่อมโทรมของทางชีวภาพ] และมีแนวโน้มที่จะเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าผู้ใหญ่ [วัยกลางคน]

เส้นแบ่งระหว่างผู้อยู่ในวัยกลางคนกับผู้สูงอายุไม่สามารถนิยามให้ชัดเจนได้ ขึ้นอยู่กับการตีความหมายของแต่ละสังคม อันเนื่องจากการการเปลี่ยนแปลงทางกิจกรรมหรือบทบาททางสังคม อาทิ ผู้สูงอายุอาจหมายถึงผู้ที่กลายเป็นปู่ย่าตายาย ผู้ทำงานน้อยลง หรือผู้เกษียณอายุ ในบางสังคมเรียกผู้สูงอายุว่า “ราษฎรอาวุโส” (Senior citizen)

การเสื่อมลงทางร่างกาย ต่อไปนี้มักใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดความเป็นผู้สูงอายุ: ผิวหนังเหี่ยวย่นและมีจุด สีผมเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือขาว เส้นผมร่วงหาย ปอดหย่อนสมรรถภาพ สายเสียงย่อหย่อน การได้ยินที่แผ่วเบาลง การมองเห็นที่ลดความคมชัด ความคล่องแคล่วและปฏิกิริยาตอบโต้ที่ช้าลง ความจำที่ถดถอย อารมณ์ที่ซึมเศร้า การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction) หรือหมดความรู้สึก (Libido) และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกระดูก อาทิ กระดูกและข้อเสื่อม (Osteoarthritis)

ประมาณปี พ.ศ. 2343 เป็นจุดกำเนิดของระบบบำนาญ (Pension) สำหรับผู้สูงอายุในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีการกำหนดอายุเกษียณที่ 70 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อายุเกษียณเปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่า 65 ปี ถึง 70 ปี เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังระบบบำนาญ ซึ่งวิวัฒนามาเป็นระบบประกันสังคม (Social Security) ในปัจจุบัน ก็คือ การป้องกันผู้ยากจนและผู้สูงอายุ มิให้ลดสถานะในสังคมลงมาเป็นขอทาน ซึ่งยังเป็นสภาพที่พบเห็นอยู่ในบางประเทศด้อยพัฒนา

จำนวนประชากรผู้สูงอายุเติบโตขึ้นทั่วโลก ด้วยสาเหตุหลักของชั่วอายุคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกกันว่า “Baby boom” และการเพิ่มขึ้นของการให้บริการหรือมาตรฐานของการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว อายุเฉลี่ยของประชากรได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 80 ปี ถึง 90 ปี ในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ระบบสวัสดิการสาธารณะ [ประกันสังคม] ไม่สามารถรองรับได้เต็มที่อีกต่อไป ในขณะที่โรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นตลอเวลา อาทิ โรคมะเร็งและโรคความจำเสื่อม (Dementia) ที่ไม่เคยพบเห็นก่อนหน้านี้

ในภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลก โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะมีอายุมากกว่าผู้ชาย ช่องว่างดังกล่าวอยู่ระหว่าง 9 ปีหรือมากกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สวีเดนและสหรัฐอเมริกา แต่ผู้หญิงจะมีอายุไม่แตกต่างกันหรือน้อยกว่าผู้ชายในประเทศด้อยพัฒนา อาทิ ซิมบาบเว และอูแกนดา

จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกเริ่มเติบโตขึ้อย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก่อนหน้านั้น (และยังเป็นจริงในประเทศด้อยพัฒนาในปัจจุบัน) อย่างมาก 5% ของประชากรมีอายุสูงกว่า 65 ปี มีผู้คนจำนวนน้อยที่อยู่ยาวนานถึง 70 ปีหรือ 80 ปี เพราะอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บได้คร่าชีวิตผู้คนส่วนมากก่อนถึงวัยผู้สูงอายุ และเพราะปัญหาสุขภาพของผู้อยู่ในวัยเกิน 65 ปี มักไม่สามารถรักษาได้แล้วลงเอยด้วยการตายที่เร็วขึ้น ผู้มีอายุยืน มักเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และ/หรือ การมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.เตือน 3 กลุ่มป้องกัน 6 โรคหน้าหนาว http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000160570&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 20].
  2. Old age. http://en.wikipedia.org/wiki/Old_age [2011, December 20].