กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย (Systemic Capillary Leak Syndrome)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลอดเลือดฝอย (Capillary) มีบทบาทสำคัญในการนำส่ง สารอาหาร และออกซิเจนผ่านเม็ดเลือดแดงสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย หลอดเลือดฝอยมีขนาดเล็กมาก แตกแขนงกระจายตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย หลอดเลือดฝอยมีผนังที่บางมาก ประกอบไปด้วยเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด(Endothelial Cell) มีคุณสมบัติพิเศษเป็นเนื้อเยื่อที่เรียกว่า “เยื่อเลือกผ่าน (Semi-permeable membrane)” กล่าวคือ มีความสามารถในการคัดกรองสารโมเลกุลบางชนิดให้ผ่านเข้าออกหลอดเลือดฝอยได้ ทำให้หลอดเลือดฝอยสามารถนำส่งสารต่างๆไปยังเซลล์หรืออวัยวะเป้าหมาย และลำเลียงของเสียออกจากเซลล์เพื่อนำไปสู่กระบวนการกำจัดออกจากร่างกายต่อไปได้

กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย/กลุ่มอาการรั่วของเส้นเลือดฝอย หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Systemic Capillary Leak Syndrome ตัวย่อ SCLS มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าโรคคลาร์กสัน (Clarkson’s Disease) เป็นกลุ่มอาการที่เซลล์เยื่อบุเส้นเลือด/หลอดเลือดฝอย (Endothelial cell) มีการเรียงตัวผิดปกติ ทำให้เกิดช่องว่างหรือเกิดเสียคุณสมบัติในการเป็นเยื่อเลือกผ่าน ของเหลวและสารโปรตีนในเส้นเลือด/หลอดเลือดฝอยจึงสามารถไหลออกจากเส้นเลือดฝอยไปตามช่องว่างระหว่างเซลล์ของผนังหลอดเลือด เข้าสู่พื้นที่ว่างภายนอกหลอดเลือด หรือเข้าสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการนี้พบเกิดได้น้อยมากๆ

กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอยมีสาเหตุมาจากอะไร?

กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย

ปัจจุบัน สามารถแบ่งกลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอยตามสาเหตุได้ 3 กลุ่ม คือ

1. ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (Idiopathic SCLS )

2. กลุ่มอาการที่มีความสัมพันธ์กับโรคผิวหนัง หรือกับภาวะการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น โรคผื่นแดงลอกทั้งตัว (Erythroderma) โรคสะเก็ดเงิน ชนิดที่มีหนอง (Pustular Psoriasis) การติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) มีเนื้องอกเกิดขึ้นในร่างกาย การผ่าตัดทำบายพาส(By pass,การผ่าตัดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด)ที่หลอดเลือดปอดและหัวใจ (Cardiopulmonary Bypass)

3. อาการที่เกิดขึ้นจากการเหนี่ยวนำของยา(Drug-induced condition, พิษ หรือ ผลข้างเคียงจากยา)บางชนิด เช่นยา กลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) สารยา/สารระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว (Granulocytes Colony Stimulating Factor; G-CSF) ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นต้น

กลไกการเกิดกลุ่มอาการ SCLS ที่ทำให้คุณสมบัติการเป็นเยื่อเลือกผ่านของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดฝอยเปลี่ยนไป จนเกิดเป็นช่องว่างนั้น ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างแน่ชัด แต่พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการนี้ มีสารโปรตีนชนิดที่เรียกว่า เอ็มโปรตีน (M- Protein, Myeloma protein เป็นสารโปรตีนที่ผิดปกติที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย)ในกระแสเลือด โดยปกติพลาสมาเซลล์ (Plasma Cell, เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่สร้างสารภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย)ในไขสันหลังจะสร้างเอ็มโปรตีน ซึ่งมีปริมาณที่น้อยมาก อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เอ็มโปรตีนมีความสามารถการกระตุ้นให้เกิดกลุ่มอาการนี้ได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ เช่น

  • เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดฝอยถูกทำลายโดยโปรตีนสัญญาณ(Signal protein,สารโปรตีนชนิดที่ทำหน้าที่ส่งสัญาณการทำงานระหว่างเซลล์ต่างๆ) เช่น อินเตอร์ลิวคิน 2 และ 6 (Interleukin 2 and 6), อินเตอร์เฟอรอนแกมม่า (Interferon Gamma) และทูเมอร์นีโครซิสแฟกเตอร์แอลฟ่า (Tumor Necrosis Factor Alpha; TNF alpha)
  • โปรตีนสัญญาณชนิดลิวโคไทรอีน บี 4 (Leukotriene B4) ที่ทำให้คุณสมบัติการเลือกผ่านสารของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดฝอยเปลี่ยนแปลงไป
  • สารในซีรั่ม(Serum)ในตัวผู้ป่วยทำเกิดสารอนุมูลอิสระ ก่อให้เกิดการทำลายเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดฝอย

สารวาสคูลาร์เอนโดธีเลียลโกรธแฟกเตอร์ (Vascular Endothelial Growth Factor; VEGF) หรือสารกระตุ้นการเพิ่มจำนวนเซลล์เยื่อบุผิวหนังมีปริมาณมากขึ้น และกระตุ้นคุณสมบัติการซึมผ่านของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดฝอย

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย เช่น

  • มีประวัติโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงินชนิดมีตุ่มหนอง โรคผื่นแดงลอกทั้งตัว
  • ผู้ป่วยโรคพิษเหตุติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่เคยทำบายพาสบริเวณหลอดเลือดหัวใจ-ปอด
  • ผู้ป่วยที่ใช้ ยาเคมีบำบัด ยา Retinoids ยาGranulocytes Colony Stimulating Factor
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยเกิดกลุ่มอาการนี้มาก่อน

กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอยมีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยที่เกิดภาวะการรั่วของหลอดเลือดฝอย อาจมีอาการหลังได้รับยาที่เป็นสาเหตุภายในระยะเวลาเป็นนาที หรือ ประมาณ 2-3 วันหรืออาจนานกว่านี้ก็ได้ โดยอาการจะเกิดทันที เริ่มต้นจาก มีอาการคัดจมูก และไอ หลังจากนั้นอาการจะรุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หน้ามืด/มีความรู้สึกเหมือนจะเป็นลม ปวดท้อง ท้องเสีย และมีอาการบวมบริเวณมือและเท้าส่วนปลาย มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีผื่นคันขึ้นตามลำตัว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้นหากเกิดอาการดังกล่าวหลังการใช้ยาต่างๆ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเมื่อมีอาการข้างต้น หลังการใช้ยาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด/คล้ายจะเป็นลม ร่วมกับมีอาการคล้ายเป็นโรคหวัด เช่น คัดจมูก ไอ

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการ SCLS จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม อาการในระยะแรกของผู้ป่วย จะมีเพียงอาการ คัดจมูก ไอ เหมือนกับการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ แต่ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่ จะมาเมื่อมีอาการช็อก เป็นลม ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งแพทย์สามารถตรวจยืนยันผลการวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ได้ โดยการตรวจเลือดจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่จะพบว่ามีสารแอลบูมิน(Albumin)ในเลือดต่ำ (Hypoalbuminemia; แอลบูมิน เป็นโปรตีนในกระแสเลือดที่มีบทบาทในระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และในการควบคุมสมดุลออสโมติก/Osmotic/สมดุลในการซึมผ่านของของเหลวในกระแสเลือด) ร่วมกับมีความเข้มข้นของเม็ดเลือดสูงกว่าปกติ(Hemoconcentration) เนื่องจากมีการสูญเสียของเหลวในกระแสเลือดไป เลือดจึงมีความเข้มข้นของเม็ดเลือดสูงขึ้น

รักษากลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอยอย่างไร?

การรักษากลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย เป็นการรักษาตามระยะของอาการ กล่าวคือ

1. ระยะที่หนึ่งหรือระยะช่วยชีวิต (Resuscitation Phase) ซึ่งเป็นระยะที่พบการไหลของของเหลวและของสารโปรตีนออกจากหลอดเลือดไปสู่ช่องว่างตามเนื้อเยื่อและในอวัยวะข้างเคียง เป้าหมายของการรักษาในระยะนี้คือการควบคุมการรั่วไหลและการรักษาระดับความดันโลหิตของผู้ป่วย ซึ่งระยะนี้ อาการจะคงอยู่เป็นเวลาหลายวัน

ในระยะนี้ สารโปรตีนแอลบูมินจะรั่วไหลไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทั่วตัว อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration)ร่วมด้วย เนื่องจากของเหลวในกระแสเลือดมีน้อยลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำร่วมด้วยอีกอาการ ดังนั้น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ทั้งนี้ ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการสูญเสียของเหลวในหลอดเลือด อาจเป็นอันตรายต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะต่อไต จนเกิดภาวะไตวายได้ นอกจากนั้น แพทย์อาจพิจารณาให้สารแอลบูมินร่วมด้วยทางหลอดเลือดดำก็ได้

2. ระยะที่สองหรือระยะการไหลกลับของของเหลวสู่กระแสเลือด (Recruitment Phase) เป็นระยะที่แอลบูมินและของเหลวที่เคยไหลออกไปนอกหลอดเลือดฝอย เริ่มถูกดูดซึมกลับสู่หลอดเลือดฯ เป้าหมายของการรักษาในระยะนี้ คือลดภาวะสารน้ำมากเกิน (Fluid Overload)ในหลอดเลือด แพทย์อาจพิจารณาลดการให้สารน้ำเข้าสู่กระแสเลือด/หลอดเลือด แม้ความดันโลหิตยังอยู่ในระดับต่ำ เพื่อป้องการความเสี่ยงในการสะสมสารน้ำในอวัยวะต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะในอวยัวะสำคัญ เช่น ปอด การรักษาระดับความดันโลหิตในระยะนี้ แพทย์อาจรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับพอประมาณที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายเท่านั้น ทั้งนี้ แพทย์อาจพิจารณาการให้ยาในกลุ่มยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เช่นยา Furosemide เพื่อช่วยร่างกายขับสารน้ำส่วนเกินตามช่องว่างของอวัยวะต่างๆในร่างกาย รวมถึงการให้ยาเสตียรอยด์เพื่อลดการซึมผ่านของสารน้ำและสารแอลบูมินออกจากหลอดเลือดฝอยด้วย

3. ระยะควบคุมโรค (Maintenance Therapy) ระยะนี้เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการจาก 2 ระยะแรก ยาที่ใช้บ่อยในระยะนี้ เช่นยา ธีโอฟีลีน (Theophylline) ยาเทอร์บูทาลีน (Terbutaline) หรือ ยามอนเทลูคัส (Montelukast) เป็นต้น

การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

ปัจจุบัน มีข้อมูลผู้ป่วยที่เกิดกลุ่มอาการ SCLS อยู่น้อยมาก เพราะเป็นกลุ่มอาการที่พบได้น้อยมากๆ จากรายงานของมาโยคลินิก (Mayo Clinic) ซึ่งเป็นกลุ่มของแพทย์และงานวิจัยของแพทย์ในสหรัฐอเมริกา พบว่าการพยากรณ์โรค หรือ อัตรารอดชีวิตช่วง 5 ปีภายหลังการวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ คิดเป็นร้อยละ 76 (76%) ส่วนในยุโรปพบว่าอัตราการรอดชีวิตในช่วง 5 ปีภายหลังการวินิจฉัยฯ ในผู้ป่วย 23 ราย อยู่ที่ร้อยละ 85(85%)

ป้องกันกลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอยอย่างไร?

กลุ่มอาการรั่วของหลอดเลือดฝอย เป็นกลุ่มอาการที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการนี้(ดังกล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยง” )เช่น มีประวัติโรคผิวหนัง เช่นโรคสะเก็ดเงินชนิดมีตุ่มหนอง หรือผู้ป่วยที่เคยทำบายพาสบริเวณหลอดเลือดหัวใจ-ปอด หรือผู้ป่วยที่ใช้ ยาเคมีบำบัด ยา Retinoids ยาGranulocytes Colony Stimulating Factor หรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยเกิดกลุ่มอาการนี้มาก่อน ควรเฝ้าระวังเมื่อได้รับยาต่างๆ และควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากมีอาการตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Aline Lopes Bressan, Alexandre Gripp, Elisa Fontenelle de Oliveira, and Roberto Souto da Silva. Systemic capillary leak syndrome. An Bras Dermatol. 2011;86(3):593-5
  2. Jun SU, Ying Zhang and Wei Hu. The Current Opinions of Capillary Leak Syndrome. Open Journal of Clinical Diagnostics, 2015, 5, 14-19.
  3. Kirk M. Druey, and Philip R. Greipp. Narrative Review: Clarkson Disease-Systemic Capillary Leak Syndrome. Ann Intern Med. 2010 Jul 20; 153(2): 90–98.
  4. Philip R. Greipp. Systemic Capillary Leak Syndrome. National Organization for Rare Disorders. 2008. [Online] Retrieved from http://rarediseases.org/rare-diseases/systemic-capillary-leak-syndrome/
  5. Rajesh Aneja. Idiopathic systemic capillary leak syndrome. UpToDate. May 2016.