กระดูกผุ กระดูกพรุน (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

อาหารที่เป็นอันตรายต่อกระดูกและทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนที่ควรหลีกเลี่ยงมีดังนี้

เกลือ – งานวิจัยพบว่าผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือนที่รับประทานอาหารที่มีเกลือมาก จะมีการสูญเสียกระดูกมากกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกัน Linda K. Massey, PhD, RD อาจารย์ด้านโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัย Washington State กล่าวว่า เกลือโซเดียมทุก 2,300 มิลลิกรัม ที่เรารับประทานเข้าไป จะทำให้เราสูญเสียแคลเซียมผ่านทางปัสสาวะประมาณ 40 มิลลิกรัม ตัวอย่างของอาหารที่มีเกลือมาก เช่น

  • เนื้อที่ผ่านกระบวนการ (Processed meats) เช่น แฮม ไส้กรอก
  • อาหารจานด่วน (Fast food) เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ อาหารทอดน้ำมัน (Fries)
  • อาหารกระป๋อง เช่น ซุปกระป๋อง ผักกระป๋อง และน้ำผลไม้กระป๋อง
  • อาหารย่าง อบ เช่น ขนมปัง และอาหารเช้าซีเรียล (Breakfast cereals)
  • ถ้าหากว่าคุณไม่สามารถลดอาหารที่มีเกลือได้มาก ให้รับประทานอาหารที่อุดมด้วยโพแทสเซียม (Potassium) เช่น กล้วย มะเขือเทศ และน้ำส้ม เพราะโพแทสเซียมอาจช่วยลดการสูญเสียแคลเซียมได้

เครื่องดื่มน้ำอัดลม (Soft drinks/Carbonated soft drinks) ที่มีกรดฟอสฟอริก (Phosphoric acid) สามารถเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ

กาเฟอีน - Dr. Massey กล่าวว่า ทุกๆ 100 มิลลิกรัม ของกาเฟอีนที่เรารับประทานเข้าไป เราจะสูญเสียแคลเซียม 6 มิลลิกรัม กาแฟเป็นแหล่งที่มีกาเฟอีนมาก เช่น กาแฟขนาด 16 ออนซ์ จะให้กาเฟอีนถึง 320 มิลลิกรัม อย่างไรก็ดี Dr. Massey กล่าวว่า ถ้าเราจำกัดการรับประทานคาเฟอีนไว้ที่ระดับ 300 มิลลิกรัมต่อวัน และได้รับแคลเซียมพอสมควร อาจจะช่วยชดเชยการสูญเสียแคลเซียมที่เกิดจากกาเฟอีนได้

แม้ว่าชาจะมีกาเฟอีน แต่จากงานวิจัยพบว่า ชาไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายอะไร และบางทีอาจเป็นตัวช่วยความหนาแน่นของกระดูกในหญิงชรา ทั้งนี้ นักวิจัยคิดว่า ชาประกอบด้วยสารของพืชที่ช่วยป้องกันกระดูก

โปรตีน – โดยเฉพาะโปรตีนที่ได้จากสัตว์ยังเป็นปัญหาที่น่าสงสัยว่าจะมีผลต่อกระดูกหรือไม่ อย่างไรก็ดี Jane Kerstetter, PhD, RD อาจารย์โภชนาการแห่ง University of Connecticut ได้กล่าวว่า “โปรตีนไม่ได้ละลายกระดูก แต่ช่วยเสริมกระดูก”

ถั่วเหลือง – ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ เทมเป้ (Tempeh) และน้ำนมถั่วเหลือง (Soy beverages) มีประโยชน์ในการสร้างกระดูก แต่ก็อาจขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียมได้ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับถั่วเหลืองยังคงสับสน งานวิจัยบางฉบับระบุว่าถั่วเหลืองเป็นปัญหาต่อความแข็งแรงของกระดูก ในขณะที่งานวิจัยฉบับอื่นระบุว่าถั่วเหลืองที่ดี (ที่มีสาร Isoflavones สาร Genistein และสาร Daidzein) จะช่วยป้องกันให้กระดูกแข็งแรง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง จึงควรแน่ใจว่า เราได้รับแคลเซียมที่พอเพียงในแต่ละวัน

นักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์เครื่องดื่มที่ผสมแคลเซียมแล้ว พบว่าแคลเซียมส่วนใหญ่ที่ผสมลงในน้ำนมถั่วเหลืองหรือเครื่องดื่มอื่นๆ มักนอนก้นอยู่ที่ขวดหรือกล่องนั้นๆ และไม่สามารถจะกระจายได้ แม้ว่าจะทำการเขย่าแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ผ่านกรรมวิธีเสริมแคลเซียม นั้น สามารถสร้างกระดูกให้แข็งแรง ดังนั้นถ้ารับประทานอาหารที่มีถั่วเหลืองมาก ก็อย่าลืมรับประทานแคลเซียมให้ได้ด้วยอย่างน้อยวัน 1,000 มิลลิกรัม

แหล่งข้อมูล:

  1. Osteoporosis Diet Dangers: Foods to Avoid. http://www.webmd.com/osteoporosis/living-with-osteoporosis-7/diet-dangers [2012, December 24].